เรื่อง : เทคนิคการอ่านกฎหมาย
เทคนิคการอ่านกฎหมายและวิธีเรียนกฎหมาย
โดย นาย
อดีต
อธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้
อดีต อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
อดีต ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา
ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษา ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข
ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่จะเสนอต่อวุฒิสภา
บทนำ
กฎหมายเป็น กติกาของสังคม เป็นกฎเกณฑ์ หรือข้อตกลงที่สังคมร่วมกันกำหนดขึ้นเป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และ เป็นธรรมในสังคมจึงเป็นหลักเกณฑ์
ที่ทุกคนถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษ
หรืออาจถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม ผู้ใดจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้
ดังจะเห็นได้จาก บทบัญญัติของกฎหมายส่วนมาก จะมีข้อความว่า
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อห้ามอ้างว่าไม่รู้กฎหมายนี้
ในทางอาญา ถึงกับบัญญัติไว้เป็นข้อกฎหมายในประมวลกฎหมายอาญา ว่าบุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย เพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้...... (มาตรา ๖๔)
การที่กฎหมายบัญญัติเป็นข้อบังคับไว้เช่นนี้ กฎหมายจึงควรเป็นสิ่งที่ทุกคน สามารถอ่านแล้วรู้เรื่อง
และสามารถเข้าใจได้โดยง่าย แต่เมื่อหยิบกฎหมายขึ้นมาอ่าน
ก็ไม่รู้แล้วว่า ชื่อของกฎหมายนั้นหมายความว่าอย่างไร
เช่น ไม่รู้ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มีความหมายว่าอย่างไร ไม่รู้ว่าพระราชบัญญัติ คืออะไร
กฎหมาย คืออะไร บางฉบับใช้คำว่า ประมวลกฎหมาย บางฉบับใช้คำว่า พระราชบัญญัติบางฉบับใช้คำว่า พระราชกำหนด บางฉบับใช้คำว่า พระราชกฤษฎีกา. ไม่รู้ว่าข้อความที่เขียนไว้ในกฎหมายนั้นมีความหมายอย่างไร ภาษาที่ใช้เขียนกฎหมายก็แปลกไปจาก
หนังสือประเภทอื่นที่เคยอ่านมา คำศัพท์บางคำ ไม่เคยเห็นมาก่อน
และเป็นการแน่นอนว่า เมื่ออ่านไม่รู้เรื่องก็ย่อมเรียนไม่รู้เรื่อง
และไม่เข้าใจ. การไม่รู้เรื่องสิ่งที่ถูกบังคับให้รู้
และ ถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือ เข้าใจผิด
อาจเกิดโทษเกิดภัยแก่ตนเองถึงกับติดคุก ติดตะราง สิ้นสิทธิ อันพึงมีพึงได้หรือสูญเสียทรัพย์สินจนสิ้นเนื้อประดาตัว แถมยังมีหนี้สินล้นพ้นตัว อันเป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้องต่อศาลให้พิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่สามารถจัดการทรัพย์สินของตนเองได้อีกด้วยและไม่รู้ว่าภัยนั้นจะมาถึงตัวเมื่อไร จึงเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง ความทุกข์นั้น
หากไม่หาทางแก้ไขปลดเปลื้อง และ ลงมือปฏิบัติ
ความทุกข์ก็จะไม่หมดสิ้นไป หรือไม่บรรเทาเบาบางลง.
วิธีดับความทุกข์
หรือ วิธีปลดเปลื้องทุกข์ ที่ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีที่สุด
คือ วิธีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหลักธรรม หมวดหนึ่งในพระพุทธศาสนา ชื่อ อริยสัจ มี ๔ ข้อ คือ
๑.ทุกข์ (ความยากลำบาก ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
ไม่พอใจ)
๒. ทุกขสมุทัย (ที่เกิดแห่งทุกข์)
๓.ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์)
๔. ทุกขนิโรธ คามินี
ปฏิปทา หรือ มรรค (ทางแห่งความดับทุกข์)
จากหลักธรรมดังกล่าวอาจสรุปความ พอให้เข้าใจง่ายๆว่า เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้นหากเราต้องการจะปลดเปลื้องทุกข์ ทำให้หลุดพ้นเพื่อแบ่งเบา หรือ ให้หมดไป สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือเราต้องค้นหาสาเหตุแห่งความทุกข์นั้นให้พบเสียก่อน เมื่อพบแล้วก็แก้ที่สาเหตุนั้นความทุกข์จึงจะบรรเทาเบาบางลง
หรือ หมดสิ้นไป.
ความทุกข์ ที่กำลังพูดถึงกัน ณ ที่นี้ คือ การอ่านกฎหมายไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ การหาความดับทุกข์ หรือ
การปลดเปลื้องความทุกข์ในเรื่องนี้ จึงต้องหาสาเหตุที่อ่านกฎหมายไม่รู้เรื่อง
ให้พบเสียก่อน
แล้วแก้ที่เหตุนั้น.
สาเหตุที่ทำให้อ่านกฎหมายไม่รู้เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ เท่าที่ ผู้เขียนรวบรวมได้ มี
๔ ประการ คือ
๑. ไม่รู้ความหมายของภาษา ที่เขียนไว้ในกฎหมาย.
๒. ไม่รู้ว่ากฎหมายคืออะไร.
๓. ไม่รู้วิธีการอ่านกฎหมาย.
๔. ไม่มีระบบในการค้นหา กฎหมาย เพื่อนำออกมาใช้.
วิธีแก้ความทุกข์ ก็ต้องแก้ที่เหตุแห่งทุกข์ ทั้ง ๔ ประการนั้น ซึ่งจะได้กล่าวถึงแต่ละวิธีเป็นลำดับไป.
************************
เหตุแห่งทุกข์ประการที่ ๑
อ่านกฎหมายไม่รู้เรื่อง เพราะ ไม่รู้ความหมายของภาษาที่เขียนไว้ในกฎหมาย
เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ หากจะกล่าวว่าคนไทยไม่รู้ความหมายของถ้อยคำในภาษาไทย จะเป็นไปได้อย่างไรเมื่อเราเกิดมาเป็นคนไทย พูดภาษาไทยได้ ฟังภาษาไทยรู้เรื่องตั้งแต่เด็กเมื่อเติบโตขึ้นก็ถูกบังคับให้ต้องเรียนหนังสือไทย การเรียน ก็ต้องเรียนทั้งเขียน อ่าน และเรียนหลักไวยกรณ์ นั้นเป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง
เพราะการเรียน การศึกษามีหลายระดับ หลายลักษณะวิชา และเนื่องจากภาษาไทย
แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ภาษาปาก (ภาษาพูด) และ ภาษาเขียน. ภาษาปาก หรือ ภาษาพูด คือภาษาที่เปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำพูดเป็นภาษาที่ใช้พูดกันเพื่อสื่อความหมายให้รู้เรื่อง และทราบความประสงค์ของกันและกันถ้าไม่เข้าใจก็สามารถสอบถามกันจนเข้าใจ และบางครั้งจะต้องแสดงกริยาท่าทางประกอบด้วย.
ภาษาเขียน คือ ภาษาที่ขีดให้เป็นตัวหนังสือ
หรือ เลข หรือรูปต่างๆ.
ภาษาปาก และ ภาษาเขียน
ยังแบ่งออกได้เป็น ๒ประเภท คือ ภาษาถิ่น และ ภาษาราชการภาษาถิ่น คือภาษาที่ใช้เฉพาะถิ่น ได้แก่ภาษาของแต่ละภาคของประเทศ ได้แก่
ภาคกลาง ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
ภาคตะวันออก และ ภาคใต้.
ภาษาราชการ คือภาษาที่ทางราชการกำหนดขึ้น
หรือบัญญัติขึ้นไว้เพื่อให้ทางราชการใช้เป็นแบบฉบับของการเขียนหนังสือไทย ในทางราชการ และ ทางโรงเรียนเพื่อให้การเขียนหนังสือไทยมีมาตรฐานลงรูปลงรอยเดียวกัน
ไม่ลักลั่น ขาดความเป็นระเบียบทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
ไม่เป็นไปตามกฎ ตามแบบ ตามลำดับคำศัพท์ต่างๆที่บัญญัติขึ้นใช้ในกฎหมาย
ก็ถือว่าเป็นภาษาราชการด้วย เพราะการบัญญัติกฎหมายเป็นงานราชการภาษาไทย
นั้น ถ้าศึกษา และ สังเกตให้ดี จะเห็นว่า
ถ้อยคำ คำเดียวกัน เขียนตัวสะกดเหมือนกันเปล่งเสียงออกมาเหมือนกัน
แต่คนที่อยู่ต่างภาค ต่างท้องถิ่นกัน
แปลความหมายไม่เหมือนกัน เช่นคำว่า ส้วม ภาษาราชการ
และภาษา ภาคกลาง หมายความว่า
ที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ แต่ภาษาถิ่นทางภาคอีสานหมายความถึง ห้องนอน
คำว่า เว้า ภาษาราชการ หมายความว่า
มีเส้นรอบนอกหรือพื้นราบ โค้ง หรือบุ๋มเข้าไปแต่ภาษาถิ่นทางภาคอีสาน
หมายความว่า พูด นอกจากนี้ ภาษาที่พูดกัน ยังมี คำสแลง และ คำผวน อีกด้วย.
คำสแลง เป็นถ้อยคำ หรือสำนวน ที่ใช้เข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม หรือชั่วระยะเวลาหนึ่งไม่ใช่ภาษาที่ยอมรับกันว่าถูกต้องตามหลักภาษา.คำผวน หมายถึงหวนกลับ เช่น ตกที่อิฐ ผวนเป็น ติดที่อก เป็นต้น.ภาษาที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาปาก
หรือ ภาษาพูดและคนในแต่ละท้องถิ่นก็จะพูดภาษาท้องถิ่นของตน
จะไม่ใช้ภาษาราชการ นอกจาก
ผู้ที่เป็นนักเรียน หรือผู้ที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการเรียน
หรือ การปฏิบัติราชการ
ซึ่งจะต้องทำเป็นตัวหนังสือ หรือ เป็นลายลักษณ์อักษร.การเรียน
การสอนหนังสือในสถาบันการศึกษาของเรา แม้แต่การสอน
วิชาหลักภาษาไทย ผู้สอนส่วนใหญ่ และผู้เขียนตำรา มักจะเข้าใจว่า นักเรียน และ นักศึกษาทุกคนทราบความหมาย หรือ คำนิยาม ของถ้อยคำทุกคำในตำราเรียนตรงกัน เพราะทุกคนเป็นคนไทยรู้ และ เข้าใจภาษาไทยมาแต่เกิด จึงไม่ได้เน้นให้ นักเรียนนักศึกษา ทราบความหมายของถ้อยคำ ที่เขียนในตำรา หรือ ในเอกสารต่างๆ
ที่ใช้ในราชการ ซึ่งเป็น ภาษาราชการปล่อยให้ทุกคนค่อยๆทำความเข้าใจ
และ รู้ความหมายเอาเอง ซึ่งสามารถทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
เมื่อเรียนสูงขึ้น มากวิชาขึ้น คำศัพท์ต่างๆก็ยิ่งมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายซึ่งต้องเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งสิ้น
และทุกคำมีความหมาย เมื่อผู้สอนไม่เน้นเรื่องคำแปล
หรือคำนิยามความหมายของถ้อยคำ ให้ตรงกับที่ทางราชการกำหนดไว้
เป็นเหตุให้นักเรียน นักศึกษา ที่มาจากต่างภาคต่างท้องถิ่นกัน
แปลความหมายของถ้อยคำผิดเพี้ยนกันไป แม้แต่คนที่อยู่ภาค
และท้องถิ่นเดียวกันก็ยังแปลความหมายแตกต่างกัน บางครั้ง คิดว่า
ถ้อยคำ บางคำ ไม่มีคำแปล เช่นคำว่า สิทธิ, อำนาจ, หน้าที่,รับผิดชอบ, ข้อเท็จจริง, ข้อกฎหมาย.
เป็นต้น ความจริงถ้อยคำเหล่านี้ เป็นคำศัพท์ ที่ทางราชการบัญญัติขึ้น
และได้ให้คำนิยามความหมายไว้ทั้งสิ้น เมื่อเราไม่ดูคำจำกัดความหมาย
จากพจนานุกรมเราก็ไม่ทราบความหมาย หรือ ทราบ แต่เพียงเลาๆเท่านั้น
ไม่กระจ่างชัดทุกแง่มุม ซึ่ง ถ้อยคำเหล่านี้
หากไปอยู่ใน เอกสารบางประเภท
มีความสำคัญมาก เช่นไปอยู่ใน เอกสารสัญญาต่างๆ ใน พินัยกรรม โดยเฉพาะ
ในกฎหมาย หากไม่ทราบความหมายที่แท้จริงตามที่ทางราชการกำหนดไว้ อาจแปลความหมายผิด หรือตีความผิดไปซึ่งอาจมีผลทำให้คดีความถึงแพ้ชนะกันได้.เนื่องจาก กฎหมาย เป็น กฎ หรือ บทบัญญัติ ที่ทางราชการตราขึ้น เพื่อใช้
บังคับ แก่ประชาชนทั้งประเทศการบัญญัติกฎหมาย
จะต้องบัญญัติ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และ เมื่อเป็น
กฎหมายไทย ภาษาที่ใช้บัญญัติกฎหมายจึงต้องเป็น ภาษาไทย และต้องเป็นภาษาราชการ เพราะเป็นภาษาที่ทางราชการกำหนดให้ใช้ถ้อยคำใดที่จะบัญญัติขึ้นใช้ใหม่
หรือ เป็นคำศัพท์เดิม แต่ต้องการให้มีความหมายใหม่ในกฎหมายฉบับใดก็จะต้องให้คำนิยามความหมาย
ไว้ใน บทนิยาม หรือ บทวิเคราะศัพท์
ของกฎหมายฉบับนั้น. ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในบทบัญญัติหมวดแรกของกฎหมาย
คือ หมวดที่ว่าด้วย หลักทั่วไป หรือ
บททั่วไป การอ่านกฎหมาย บางครั้ง
เมื่อต่างคนต่างอ่าน ตามตัวอักษร แล้วต่างมีความเห็น
ไม่ตรงกันและบางครั้งถึงกับมีความเห็นตรงกันข้าม จากถูกเป็นผิดก็มีทั้งนี้เพราะแปลความหมายของถ้อยคำที่เป็นตัวอักษร
ต่างกัน แปลตามความเข้าใจของแต่ละคนไม่ได้ยึดถือตามคำนิยามความหมายที่ทางราชการบัญญัติไว้ จึงเกิดการโต้เถียงกัน และหาข้อยุติไม่ได้แล้วหันมาโทษว่า กฎหมายไทยเป็นกฎหมายที่ดิ้นได้ มาก จึงต้องมีการตีความกฎหมายกันถึงกับต้องบัญญัติกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีตีความกฎหมายไว้.วิธีแก้ความทุกข์
เรื่องการไม่รู้ความหมายคำศัพท์ภาษาไทยที่ใช้เขียนกฎหมายมีคำถามว่า เมื่อกฎหมายเขียน ด้วย ภาษาราชการ เราจะหาคำนิยามความหมาย หรือคำแปลของคำศัพท์ต่างๆที่เป็นภาษาราชการ ได้ที่ไหน?ตอบได้ว่า จากหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่เน้นเฉพาะ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื่องจากเป็นฉบับที่ได้มีการ
ปรับปรุงจาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓
ครั้งใหญ่ ครั้งสุดท้ายซึ่งได้มีการบัญญัติ เพิ่ม คำศัพท์ต่างๆอีกมาก โดยเฉพาะ ศัพท์กฎหมาย และ
ทางราชการได้ประกาศให้บรรดาหนังสือราชการ และ การศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน
ใช้เป็นระเบียบการใช้ตัวสะกด โดยทำเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ซึ่งมีข้อความดังต่อไปนี้.
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด
โดยที่ ราชบันฑิตยสถานได้จัดตีพิมพ์
หนังสือ พจนานุกรม ฉบับราชบันฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ขึ้นเสร็จสิ้นแล้วเสนอว่าควรยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด ลงวันที่ ๕พฤษภาคม
๒๔๙๓
แต่ทางราชการ และ โรงเรียนก็ยังควรมี
แบบมาตรฐานสำหรับใช้ ในการเขียนหนังสือไทยเพื่อให้เป็นระเบียบเดียวกัน
และควรใช้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นมาตรฐานดังกล่าว.คณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาแล้ว
มีมติเห็นชอบด้วย ให้ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องระเบียบการใช้ตัวสะกด
ลงวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ แต่นี้ต่อไป บรรดาหนังสือราชการและการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน ให้ใช้สะกดตามระเบียบ และพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.
๒๕๒๕ เสมอไปถ้าและ กระทรวง ทบวง กรมใด
เห็นสมควรเปลี่ยนอักขรวิธีในคำใด ก็ให้ชี้แจงแสดงเหตุผลไป ยังราชบัณฑิตยสถานต่อเมื่อ
ราชบัณฑิตยสถาน เห็นชอบด้วย และสั่งแก้พจนานุกรมแล้วจึงให้ใช้ได้
อนึ่ง
เมื่อแก้ระเบียบอักขรวิธี หรือ พจนานุกรม
เวลาใดๆ ให้ราชบัณฑิตยสถานโฆษณาให้ทราบทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ เมษายน
๒๕๒๖
พลเอก
ป. ติณสูลานนท์
(เปรม ติณสูลานนท์)
นายกรัฐมนตรี
ผู้เขียนเคยถูกท้วงติงจากนักกฎหมายบางท่านที่เรียนกฎหมายต่างประเทศว่า จะใช้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานมาแปลกฎหมาย และตีความกฎหมายไม่ได้ ผู้เขียนได้อธิบาย ชี้แจงว่า ผู้เขียนไม่ได้ใช้พจนานุกรมเป็นเครื่องมือในการแปลกฎหมาย
หรือ ตีความกฎหมายแต่ใช้เพื่อแปลถ้อยคำภาษาไทยที่เขียนไว้ในกฎหมาย ตามระเบียบของทางราชการเพราะถ้าเราไม่ทราบความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของถ้อยคำ แต่ละคำ ที่เป็นทางราชการ แล้วเราจะตีความกฎหมายได้อย่างไร
ส่วนการตีความกฎหมาย จะต้องปฎิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔
ซึ่งบัญญัติว่ามาตรา ๔ กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใดๆแห่งกฎหมาย
ตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมาย ของบทบัญญัตินั้นๆเมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งและถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป.เพื่อมิให้เกิดความลังเลสงสัยว่า มีความจำเป็นต้องใช้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักในการอ่านกฎหมาย การตีความกฎหมาย
การเขียนหนังสือราชการ และในการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนหรือไม่
เราควรศึกษาให้ได้ความกระจ่างชัด ว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานคืออะไร
?คำตอบในเรื่องนี้ คงดูได้จาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานซึ่งได้ให้คำจำกัดความไว้ว่าพจนานุกรม
หมายความถึง หนังสือสำหรับค้นความหมายของถ้อยคำ ที่เรียงลำดับตัวอักษร.นอกจากนี้ คำนำในการจัดพิมพ์หนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. ๒๕๒๕ ครั้งที่ ๑ ซึ่งเขียนโดยนายกราชบัณฑิตยสถาน
ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า
พจนานุกรม เป็นหนังสือรวบรวมคำที่มีใช้อยู่ในภาษา โดยมากจัดเรียงลำดับตามตัวอักษร
ให้ความรู้เรื่องอักขรวิธี บอกเสียงอ่าน และนิยามความหมาย ตลอดจนบอกประวัติของถ้อยคำเท่าที่จำเป็นนอกจากนี้หนังสือพจนานุกรม ยังเป็นเครื่องส่อให้เห็นว่า ชาติผู้เป็นเจ้าของพจนานุกรมนั้น มีวัฒนธรรมอยู่ในระดับไหน สูงต่ำเพียงไร เพราะฉะนั้นพจนานุกรม จึงนับได้ว่าเป็นหนังสืออ้างอิงที่สำคัญ
และจำเป็นเมื่อว่าโดยเฉพาะ พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน
มีลักษณะพิเศษไปจากพจนานุกรมอื่นๆ คือทางราชการให้ใช้เป็นแบบฉบับ
ของการเขียนหนังสือไทย ในทางราชการ และโรงเรียน ทั้งนี้เพื่อให้การเขียนหนังสือไทย
มีมาตรฐาน ลงรูปลงรอยเดียวกัน ไม่ลักลั่น อันจะก่อให้เกิด
เอกภาพ ในด้านภาษาอันเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่ง จึงนับได้ว่าเพิ่มความสำคัญ และจำเป็นขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ
สิ่งที่ควรทราบด้วย คือ ราชบัณฑิตยสถานคืออะไร
? และ ราชบัณฑิต คืออะไร ?
ราชบัณฑิตยสถาน คือ องค์การวิทยาการของรัฐ
ซึ่ง เป็นสถาบันราชการ ตั้งขึ้น โดย
พระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๗๖ . (มีแก้ไข ฉบับ พ.ศ.
๒๔๘๕) ต่อมา พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง
ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔ หมวด ๑๕ มาตรา ๓๓,
๓๔ กำหนดให้เป็นส่วนราชการที่
ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง
หรือ ทบวง และ ให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
มีหน้าที่ ๓ ประการ คีอ
๑ ค้นคว้า และบำรุงสรรพวิชา ให้เป็นคุณประโยชน์แก่ชาติ
และประชาชน.
๒ ติดต่อแลกเปลี่ยน
ความรู้กับองค์การปราชญ์อื่นๆ.
๓ ให้ความเห็น คำปรึกษา และ ปฏิบัติการเกี่ยวกับวิชา
ตามความประสงค์ ของรัฐบาล (มาตรา ๕, ๖).
การรวบรวมถ้อยคำที่มีใช้อยู่ในภาษาไทย และบัญญัติคำศัพท์
ภาษาไทย ไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
เพื่อใช้เป็นแบบฉบับของการเขียนหนังสือไทย ในทางราชการ และโรงเรียน เป็นหน้าที่ ที่ราชบัณฑิตยสถาน
ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล.
ราชบัณฑิต ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาใด
สาขาหนึ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เลือก
และนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต (มาตรา ๑๖).
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำนิยาม คำว่า ราชบัณฑิตไว้ว่า
ราชบัณฑิต
๐ นักปราชญ์หลวงมีความรู้ทางภาษาบาลี.
๐ สมาชิกองค์การวิทยาการของรัฐ
ที่เรียกว่า ราชบัณฑิตยสถาน.
เมื่อเราทราบว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คืออะไร และ มีที่มาอย่างไรแล้ว ทำให้เราเห็นว่า
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการอ่าน
และ การเขียนหนังสือราชการ โดยเฉพาะ
กฎหมาย เพราะถ้อยคำ ทุกคำในกฎหมาย มีความสำคัญ และ
มีคำแปลทั้งสิ้น จะขาด หรือ
เกินคำใดคำหนึ่งไม่ได้
และ จะเว้นวรรค ระหว่างคำ หรือ ระหว่างประโยคผิดที่ไปก็ไม่ได้.
กฎหมายเป็นหนังสือราชการประเภทหนึ่ง ถ้อยคำ และ ประโยคต่างๆ ที่ใช้เขียนกฎหมาย จึงต้องใช้
ภาษาราชการทั้งสิ้น จะใช้ภาษาพูด หรือ
ภาษาถิ่น มาเขียนไม่ได้ ดังนั้น การอ่านกฎหมาย
จึงจำเป็นต้องรู้ความหมายของถ้อยคำ และ คำศัพท์ภาษาไทย ทุกคำ ที่เป็นทางราชการ
จึงจะสามารถเข้าใจความหมายได้ถูกต้องตรงกับที่เขียนไว้ในกฎหมาย.
ถ้าเราอ่านกฎหมาย โดยพยายาม
หาคำจำกัดความหมายของถ้อยคำ และ คำศัพท์ภาษาไทย ทุกคำ จาก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะทำให้เรารู้เรื่อง และ เข้าใจกฎหมายได้ถูกต้อง และรวดเร็วขึ้น
ทั้งนี้เพราะ ถ้อยคำทุกคำในภาษาไทย แม้แต่
คำสันธาน เช่นคำว่า และ, หรือ, แต่,
ต่อ, กับ, ที่,
ซึ่ง,
อัน, โดยที่, ฐาน.
ล้วนมีคำนิยามความหมาย ที่อธิบายขยายความได้ทั้งสิ้น และบางคำมีหลายความหมาย.
คำบางคำ เป็นทั้งคำกริยา และ คำสันธาน
ซึ่งมีความหมายไม่เหมือนกัน เช่น-
และ
๐ เป็นคำสันธาน หมายความว่า กับ, ด้วยกัน.
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า
เชือด แล่ เถือสิ่งที่ยังมีเหลือติดอยู่กับสิ่งอื่น เช่น
เนื้อติดกระดูกให้หลุดออกเป็นแผ่นบางๆ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเป็นต้น.
คำบางคำ เป็นทั้ง คำกริยา คำช่วยกริยา และ คำนาม และมีความหมายไม่เหมือนกัน เช่น คำว่า
ให้
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า
มอบ, สละ, อนุญาต.
๐ เป็นคำช่วยกริยา บอกความบังคับ เช่น ให้ทำ, ให้ไป, ให้จำคุก.
๐ เป็นถ้อยคำ ในกฎหมาย เป็นคำนาม หมายความถึง ชื่อสัญญา ซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้
โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่ บุคคลอีกคนหนึ่ง
เรียกว่า ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น.
คำว่า ให้ ได้นำมาใช้ในกฎหมายมากมาย
ในทุกความหมาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นชื่อของสัญญาประเภทหนึ่ง
ในเอกเทศสัญญา ลักษณะ ๓
มาตรา
๕๒๑ อันว่า ให้ นั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคล คนหนึ่ง
เรียกว่า ผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตน
ให้โดยเสน่หา แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับ และผู้รับ ยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น.
ในประมวลกฎหมายอาญา เป็นคำช่วยกริยา แสดงความบังคับ
เช่น
มาตรา ๑๙ ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้เอาไปยิงเสียให้ตาย
หมายความว่าเมื่อผู้ใดถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต กฎหมายบังคับว่า ต้องเอาไปยิง จนกว่าจะตาย.
ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา ๑๘ ให้ศาลมีอำนาจที่จะตรวจคำคู่ความ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลได้รับไว้เพื่อยื่นต่อศาล
หรือส่งให้แก่คู่ความ หรือบุคคลใดๆ
ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๙๔ ให้ พนักงานฝ่ายปกครอง
หรือ ตำรวจที่ทำการค้นในที่ระโหฐานสั่งเจ้าของหรือคนอยู่ในนั้น
หรือผู้รักษาสถานที่ซึ่งจะค้น ให้
ยอมให้ เข้าไปโดยมิหวงห้าม อีกทั้ง
ให้ความสะดวกตามสมควรทุกประการในอันที่จะจัดการตามหมาย ทั้งนี้ ให้พนักงานผู้นั้นแสดงหมาย
หรือถ้าค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย ก็ ให้ แสดงนามและตำแหน่ง.
ถ้าบุคคลดังกล่าว..............
คำว่า ให้ ในมาตรา ๙๔ นี้ มีอยู่ ๖ คำ คำแรก และคำที่สอง เป็นคำช่วยกริยา
แสดงสภาพบังคับ คำที่ ๓
เป็นคำกริยา หมายความว่า อนุญาต คำที่ ๔ หมายความว่า มอบ คำที่
๕ และที่ ๖ เป็นคำช่วยกริยา
แสดงความบังคับ
คำบางคำ ที่อยู่ในกฎหมาย เราคิดว่าไม่มีความหมาย
และไม่เคยแปล แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
ก็ได้ให้คำนิยามความหมาย ซึ่งอธิบายขยายความได้ เช่น-
ฐาน เมื่อนำไปใช้ในกฎหมายอาญา
๐ เป็นคำสันธาน หมายความว่า เพราะ เช่น ถูกลงโทษฐานละเลยต่อหน้าที่
กฎหมายไม่นิยมเขียนว่า ถูกลงโทษเพราะ
ละเลยต่อหน้าที่ และ นำไปใช้ในการตั้งชื่อลักษณะความผิดในประมวลกฎหมายอาญา
เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์
และวิ่งราวทรัพย์, ความผิดฐานฉ้อโกง.
โดยที่
๐ เป็นคำสันธาน
หมายความว่า เพราะเหตุว่า. คำนี้มักพบในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายต่างๆ
เป็นคำขึ้นต้น เช่น
โดยที่ สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรที่จะยกเลิกบรรดากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งต่างๆ
ที่ใช้อยู่ ณ
บัดนี้..........
ถ้อยคำในกฎหมาย หลายคำ กฎหมายไม่ได้ให้คำนิยามความหมายไว้ หากเราไม่เปิดดูจากพจนานุกรม
เราอาจไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง ที่เป็นทางราชการ
และไม่สามารถอธิบายขยายความได้ คงใช้วิธีจำเอาไว้
และทราบความหมายเพียงเลาๆ ไม่ชัดเจน เช่น
ประมวลกฎหมาย
๐ เป็นคำนาม หมายความว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่รวบรวมกฎหมายในลักษณะเดียวกันไว้เป็นระบบ ตามหลักวิชาการ
เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ,
ประมวลรัษฎากร.
บทบัญญัติ
๐ เป็นคำนาม
หมายความว่า ข้อความที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมาย.
สิทธิ
๐ เป็นคำนาม หมายความว่า
อำนาจอันชอบธรรม, ความสำเร็จ.
๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำนาม หมายความว่า อำนาจที่จะกระทำการใดๆได้อย่างอิสระ
โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย.
หน้าที่
๐ เป็นคำนาม แปลว่า กิจที่ควรทำ, กิจที่จะต้องทำ,
วงแห่งกิจการ.
อำนาจ
๐ เป็นคำนาม หมายความว่า
อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่ .
๐ ความสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น อำนาจบังคับของกฎหมาย อำนาจบังคับบัญชา.
๐ ความบังคับบัญชา เช่นอยู่ใต้อำนาจ.
๐ การบังคับ เช่น ขออำนาจศาล.
๐ สิทธิ เช่น มอบอำนาจ.
บังคับ
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ใช้อำนาจสั่งให้ทำ หรือ ปฏิบัติ.
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ให้จำต้องทำ เช่น
ตกอยู่ในที่บังคับ.
๐ เป็นคำกริยา
หมายความว่า ให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น บังคับเครื่องบินให้ขึ้นลง.
มาตรา
๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำนาม หมายความว่า
บทบัญญัติในกฎหมายที่แบ่งออกเป็นข้อๆ .
อนุมาตรา
๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อย่อยของมาตราในกฎหมาย
ที่มีเลขกำกับอยู่ในวงเล็บ.
วรรค
๐ เป็นคำในกฎหมาย
เป็นคำนาม หมายความว่า ย่อหน้าหนึ่งๆของบทบัญญัติ ในแต่ละมาตรา ของกฎหมาย.
๐ ช่วงหนึ่งของคำ หรือ ข้อความที่สุดลง แล้วเว้นเป็นช่องว่างไว้ระยะหนึ่ง.
๐ เรียกคำหรือข้อความช่วงหนึ่งๆว่า วรรคหนึ่งๆ.
บรรดา
๐ เป็นคำวิเศษณ์ หมายความว่า ทั้งหลาย ทั้งปวง ทั้งหมด.
ข้อเท็จจริง
๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความ หรือ เหตุการณ์ที่เป็นมา
หรือ ที่เป็นอยู่ ตามจริง,
๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำนาม หมายความว่า
ข้อความ หรือ เหตุการณ์ที่วินิจฉัยแล้วว่า เป็นจริง.
ข้อกฎหมาย
๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำนาม หมายความว่า ปัญหาข้อโต้เถียง
หรือ ข้อโต้แย้ง ในเรื่อง
ข้อความที่เกี่ยวกับการใช้บังคับกฎหมาย หรือ การตีความกฎหมาย.
ประเด็น
๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความสำคัญของเรื่องที่แยกหยิบยกขึ้นพิจารณา.
๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำนาม หมายความว่า
ข้อเท็จจริง หรือ
ข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญที่คู่ความยกขึ้นเป็นข้ออ้างในคดี.
รับผิด
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ยอมรับสารภาพ,
๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำกริยา หมายความว่า
มีหน้าที่ผูกพันตามกฎหมาย ที่จะต้องชำระหนี้ หรือ กระทำการ
หรือ งดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง.
ความผิด
๐ เป็นคำนาม หมายความว่า เรื่องที่ไม่ตรงกับความจริง
หรือ ที่กำหนดนิยมไว้
กระทำความผิด
๐ หมายความว่า
กระทำการที่กฎหมายห้าม และ ถือว่า เป็นความผิด
ซึ่งมีผลให้ต้องถูกลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด.
รับผิดชอบ
๐ เป็นคำกริยา
หมายความว่า ยอมตามผลที่ดี หรือ ไม่ดีในกิจการที่ ได้กระทำไป.
ล้มละลาย
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า สิ้นเนื้อประดาตัว, หมดทรัพย์สมบัติของตัว,
๐ เป็นคำในกฎหมาย เป็นคำกริยา หมายความว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัว และ ศาลได้มีคำพิพากษาให้ล้มละลาย
เป็นต้น.
****************************
เหตุแห่งทุกข์ประการที่ ๒
อ่านกฎหมายไม่รู้เรื่อง เพราะ ไม่รู้ว่า กฎหมายคืออะไร
การที่เราจะอ่านหนังสือกฎหมาย หรือ จะเรียนกฎหมาย ถ้าหากเราไม่รู้ว่า สิ่งที่เรา จะอ่าน จะเรียน คืออะไร
เสียก่อน ก็เป็นการยากที่จะทำความเข้าใจในสิ่งนั้น.
วิธีแก้ความทุกข์ เรื่องไม่รู้ว่ากฎหมายคืออะไร
?
ทำได้โดยเราต้องค้นคว้าหาความหมาย ให้ทราบเสียก่อนว่า
กฎหมายคืออะไร?
คำว่า "กฎหมาย" เป็นคำศัพท์ ภาษาไทย ที่สำคัญคำหนึ่ง ซึ่งทางราชการ บัญญัติขึ้น
และได้ให้คำนิยามความหมายไว้. ดังนั้น
คู่มือ ที่เราจะใช้ค้นคว้าที่ดีที่สุด คือ
หนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.
๒๕๒๕.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้คำนิยามความหมายของคำว่ากฎหมายไว้ว่า
กฎหมาย
๐ บทบัญญัติซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ
ได้ตราขึ้นไว้ เพื่อใช้ในการบริหารบ้านเมือง
และบังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ผู้ใดฝ่าฝืนต้องได้รับโทษ
หรือต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม
(ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑)
จากคำนิยามความหมายดังกล่าว คำว่า กฎหมาย สามารถแยกองค์ประกอบ
ออกได้เป็น ๔ ข้อคือ
๑. กฎหมายเป็นบทบัญญัติ.
๒. ผู้มีอำนาจตรากฎหมาย จะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ.
๓. บทบัญญัติที่กำหนดไว้ มี ๒ ประเภท คือ
(๑) บทบัญญัติ ที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง.
(๒) บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคล ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง).
๔. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ
ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษ หรือ ต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม.
ซึ่งจะได้อธิบายตามลำดับไป
๑. กฎหมายเป็น บทบัญญัติ.
บทบัญญัติ เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในกฎหมาย การที่เราจะทราบว่า
บทบัญญัติ คืออะไร
เราคงต้องดูจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามความหมาย
ของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องไว้ว่า
บท
๐ เป็นคำนาม หมายความว่า
ข้อความเรื่องหนึ่งๆ หรือ ตอนหนึ่ง
บัญญัติ
๐ เป็นคำนาม หมายความว่า
ข้อความที่ตรา หรือ กำหนดขึ้นไว้เป็น ข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือเป็นกฎหมาย
เช่น พระราชบัญญัติ พุทธบัญญัติ บัญญัติ ๑๐ ประการ.
๐ เป็นคำกริยา
หมายความว่า ตรา หรือ กำหนดขึ้นไว้เป็น ข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือ เป็นกฎหมาย เช่น
บัญญัติศัพท์ บัญญัติกฎหมาย.
ข้อบังคับ หรือ
กฎข้อบังคับ หมายความว่า บทบัญญัติที่เป็นชั้นข้อบังคับ
ซึ่งกำหนดขึ้นไว้เป็นระเบียบในการปฏิบัติ
หรือดำเนินการตามกฎหมาย.
บังคับ
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ใช้อำนาจสั่งให้ทำ
หรือ ให้ปฏิบัติ, ให้จำต้องทำ.
บทบัญญัติ หมายความว่า ข้อความที่กำหนดไว้เป็น ลายลักษณ์อักษร ในกฎหมาย.
ลายลักษณ์ หมายความว่า ตัวหนังสือ หรือเครื่องหมายเป็นรูปต่างๆ.
อักษร หมายความว่า
ตัวหนังสือ, เครื่องหมายใช้ขีดเขียนแทนเสียง หรือ
คำพูด.
จากคำนิยามความหมายของถ้อยคำ ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว
ทำให้เราทราบว่า บทบัญญัติ คือข้อความ
ซึ่งกำหนดขึ้นไว้เป็นระเบียบในการปฏิบัติ หรือดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการบังคับ หรือใช้อำนาจสั่งให้ทำ
หรือ ให้ปฏิบัติ และจะต้องบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
การที่ กฎหมาย ต้องบันทึกไว้เป็น ตัวอักษร
ก็เพื่อให้เป็นหลักฐานที่จะยกขึ้นมาอ้างอิงได้ในภายหลัง หากไม่มีลายลักษณ์อักษรก็จะต้องใช้วิธีจำเอาไว้
ซึ่งอาจหลงลืม หรือจำผิดเพี้ยนกันไป
อันเป็นเหตุให้เกิดการโต้เถียงกัน และไม่มีทางหาข้อยุติได้.
๒. ผู้มีอำนาจตรากฎหมายจะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ.
การที่เราจะทราบว่าใครบ้างเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ที่มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย เราต้องทราบเสียก่อนว่า
อำนาจคืออะไร?
คำว่า อำนาจ
มีหลายความหมาย คือ
๐ สิทธิ เช่น มอบอำนาจ.
๐ อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่.
๐ ความสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น อำนาจบังคับของกฎหมาย อำนาจบังคับบัญชา.
๐ ความสามารถ หรือสิ่งที่สามารถทำหรือบันดาลให้เกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้
เช่น อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์.
๐ กำลัง, ความรุนแรง,
เช่นชอบใช้อำนาจ.
๐ ความบังคับบัญชา เช่น อยู่ใต้อำนาจ.
๐ การบังคับ เช่น ขออำนาจศาล.
สิทธิ สิทธิ์
๐ เป็นคำในกฎหมาย หมายความว่า อำนาจที่จะทำการใดๆได้อย่างอิสระ
โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย เช่น
สิทธิบัตร.
ที่มาของอำนาจ
อำนาจ ที่จะบังคับแก่บุคคลทั่วๆไปได้ จะต้องมาจากจากบทบัญญัติของกฎหมาย
บัญญัติรับรองไว้.
อำนาจตามกฎหมาย มี ๒ ประเภท
คือ อำนาจของบุคคล (บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล) และ อำนาจสูงสุดของประเทศ
(อำนาจของทางราชการ)
ที่มาของอำนาจของบุคคล ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เช่น อำนาจปกครองของบิดามารดา
ที่มีต่อบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (มาตรา ๑๕๖๖) อำนาจของผู้อนุบาล อำนาจของผู้พิทักษ์ .
อำนาจของบุคคล กฎหมายมักจะใช้คำว่า สิทธิ เพราะเป็นอำนาจที่ใช้บังคับกันภายในสถาบันของตน
จะนำไปใช้กับบุคคลภายนอกไม่ได้.
ที่มาของอำนาจสูงสุดของประเทศ ได้แก่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช
๒๕๔๐ มาตรา ๓ บัญญัติว่า
มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชนชาวไทย
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทาง รัฐสภา
คณะรัฐมนตรี และ ศาล ตามบทบัญญัติแห่ง
รัฐธรรมนูญนี้.
อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดของรัฐเอกราช ที่ใช้ในการปกครองประเทศแบ่งออกเป็น ๓ อำนาจ คือ
(๑) อำนาจนิติบัญญัติ.
(๒) อำนาจบริหาร. (๓) อำนาจตุลาการ.
อำนาจนิติบัญญัติ คือ อำนาจในการบัญญัติกฎหมาย
หรือ ตรากฎหมาย ที่เรากำลังพูดถึง.
สำหรับประเทศไทย ซึ่งในอดีตมีการปกครองด้วย
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
มาเป็น ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากนั้นก็มีการปฏิวัติรัฐประหารอีกหลายครั้ง ระหว่างปฏิวัติ
คณะปฏิวัติได้ออก ประกาศของคณะปฏิวัติใช้เป็นกฎหมายหลายฉบับ กฎหมายที่บัญญัติไว้เดิม
ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และบัญญัติโดย คณะปฏิวัติ หลายฉบับ ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบันนี้.
ผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ ที่มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย
จึงได้แก่ สถาบันต่างๆ ๖ สถาบัน คือ
(๑) พระมหากษัตริย์.
(๒) คณะปฏิวัติ หรือรัฐประหาร. (๓) สภาผู้แทนราษฎร. (๔) รัฐสภา. (๕)
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ. (๖) คณะรัฐมนตรี.
(๑) พระมหากษัตริย์ หรือ พระเจ้าแผ่นดิน หมายความถึงผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน.
เนื่องจากประเทศไทย ในอดีตมีการปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
อันเป็นระบอบการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิขาดในการบริหารประเทศ
อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว พระราชโองการ หรือพระบรมราชโองการ
เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ มาจาก พระดำรัสสั่งของพระมหากษัตริย์ ถือเป็นกฎหมาย
และมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ดังจะเห็นได้ว่า คำว่า
พระราชบัญญัติ ซึ่งหมายความถึงกฎหมาย
มีใช้มาตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยมีการปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
แต่ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อ
พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
แต่ปวงชนชาวไทยได้ถวายอำนาจอธิปไตยให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้ ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ
กล่าวคือ ทรงใช้ อำนาจนิติบัญญัติ ทางสภาผู้แทนราษฎร
(รัฐธรรมนูญฉบับแรก คือฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๕ มีสภาเดียว
คือ สภาผู้แทนราษฎร)
ทรงใช้อำนาจบริหาร ทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล.
(๒) คณะรัฐประหาร คณะรัฐประหารคือ
คณะบุคคลที่ใช้กำลังยึดอำนาจ และเปลี่ยนแปลงรัฐบาล.
ประเทศไทยมีการ รัฐประหารครั้งแรก เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบ
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕
ต่อมาภายหลังได้มีการรัฐประหารอีกหลายครั้ง
เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง
แต่เรียกชื่อคณะรัฐประหารแตกต่างกันไป เช่น คณะปฏิวัติ , คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน,
คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ, เป็นต้น.
คณะบุคคลเหล่านี้ เมื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินได้แล้ว ก็ประกาศยกเลิก รัฐธรรมนูญ
ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แล้วออกประกาศ เรียกว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ,
คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน, ออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมาย
และมีการยอมรับกันจนเป็นประเพณีนิยม ทั้ง
ศาล และ รัฐบาล
ก็ยังถือปฏิบัติ และ บังคับบัญชาให้อยู่จนปัจจุบันนี้ ยังไม่ได้มีการยกเลิกแต่ประการใด.
เช่น ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤษจิกายน
๒๕๑๔ ข้อ ๑๔ เรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๓๔๐, คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
ฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙
เรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓ เป็นต้น.
(๓) สภาผู้แทนราษฎร
คือสถาบัน หรือองค์การของรัฐ ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ
ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมาย ตามบทบัญญัติของ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งประกาศใช้บังคับ เมื่อวันที่
๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (ขณะนั้นมีสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว
ยังไม่มี วุฒิสภา จึงไม่มีรัฐสภา).
กฎหมายที่บัญญัติโดยสภาผู้แทนราษฎรก็ยังใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ เช่น
พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙
(๔) รัฐสภา คือสถาบัน
หรือองค์การของรัฐ ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ อำนาจนิติบัญญัติ
ทำหน้าที่นิติบัญญัติ
หรือบัญญัติกฎหมายประกอบด้วย ๒ สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ.
(๕) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มี สภานิติบัญญัติสภาเดียว
ทำหน้าที่บัญญัติกฎหมายแทนรัฐสภา (ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร
พุทธศักราช ๒๕๓๔
กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา
จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ)
(๖) คณะรัฐมนตรี คือคณะบุคคลที่รัฐธรรมนูญ
บัญญัติให้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และบัญญัติให้มีอำนาจ
ตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ
หรือในกรณีมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากร หรือ เงินตรา ซึ่งจะต้องรับการพิจารณาโดยด่วน
และลับ เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ถือได้ว่าเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหาร
เรียกว่า พระราชกำหนด.
๓. บทบัญญัติที่เป็นกฎหมาย
มี ๒ ประเภท คือ
(๑) บทบัญญัติที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง.
(๒) บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน
(ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง)
(๑) บทบัญญัติที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง
ก่อนที่จะรู้ว่าบทบัญญัติที่ใช้ในการบริหารบ้านเมืองคืออะไร เราจะต้องทราบเสียก่อนว่า
การบริหารบ้านเมืองคืออะไร ?
การทำความเข้าใจในเรื่องนี้จำเป็นจะต้อง ทราบนิยามความหมายที่เป็นภาษาราชการ
จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ของถ้อยคำต่างๆดังต่อไปนี้เสียก่อน
คือ
บริหาร หมายความว่า จัดการ ดำเนินการ ปกครอง.
ปกครอง หมายความว่า ดูแล คุ้มครอง.
คุ้มครอง หมายความว่า ป้องกันรักษา
ระวังรักษา ปกป้องรักษา.
ดูแล หมายความว่า เอาใจใส่ ปกปักรักษา ปกครอง.
จัดการ หมายความว่า สั่งงาน ควบคุมงาน
ดำเนินงาน.
สั่ง หมายความว่า บอกไว้เพื่อให้ทำ
หรือปฏิบัติ.
แผ่นดิน หมายความว่า
รัฐ.
รัฐ หมายความว่า แว่นแคว้น บ้านเมือง ประเทศ.
รัฐบาล หมายความว่า องค์กรที่ใช้อำนาจบริหารในการปกครองประเทศ.
คณะรัฐมนตรี หมายความถึง คณะบุคคลซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง
ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง
และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน ๓๕ คน เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
(รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช ๒๕๔๐).
บ้านเมือง หมายความว่า ประเทศชาติ รัฐ.
ประเทศ หมายความว่า ชุมนุมแห่งมนุษย์ ชึ่งตั้งมั่นอยู่ในดินแดนอันมี อาณาเขตแน่นอน
มีอำนาจอธิปไตยที่จะใช้ได้อย่างอิสระ และ
มีการปกครองอย่างเป็นระเบียบ
เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ที่อยู่รวมกันนั้น.
ราชการ หมายความว่า การงานของรัฐบาล หรืองานของพระเจ้าแผ่นดิน.
ข้าราชการ หมายความว่า
บุคคลซึ่งรับราชการ โดยได้รับเงินเดือนจาก
งบประมาณรายจ่าย หมวดเงินเดือน เช่น
ข้าราชการพลเรือน, ข้าราชการการเมือง,
ข้าราชการทหาร, ข้าราชการครู, ข้าราชการฝ่ายตุลาการ. เป็นต้น.
เจ้าพนักงาน หมายความว่า
บุคคลผู้ได้รับแต่งตั้ง ให้ ปฏิบัติราชการ ไม่ว่าเป็นประจำ
หรือชั่วคราว
และหมายความรวมถึงบุคคลผู้ทำหน้าที่ช่วยราชการ ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานเฉพาะกรณีด้วย.
รับ หมายความว่า ตกลงตาม เช่นรับทำ.
ปฏิบัติ หมายความว่า
ดำเนินการไปตามระเบียบแบบแผน เช่น ปฏิบัติราชการ.
การเมือง เป็นคำนาม
มีความหมายหลายความหมาย ได้แก่.
๐ งานที่เกี่ยวกับรัฐ
หรือแผ่นดิน เช่น วิชาการเมือง ได้แก่วิชาว่าด้วยรัฐ การจัดส่วนแห่งรัฐ
และ
การดำเนินการแห่งรัฐ.
๐ การบริหารประเทศเฉพาะที่เกี่ยวกับ
นโยบายในการบริหารประเทศ เช่นการเมืองระหว่างประเทศ
ได้แก่การดำเนิน
นโยบายระหว่างประเทศ.
๐ กิจการอำนวย
หรือ ควบคุม การบริหารราชการแผ่นดิน เช่นตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่
ตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่อำนวยการบริหารแผ่นดิน ได้แก่ คณะรัฐมนตรี
หรือ ตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่
ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร
๐ ภาษาปาก
(ภาษาพูด) เป็นคำกริยาวิเศษณ์ หมายความว่า มีเงื่อนงำ , มีการกระทำอันมีเจตนาอื่นแอบแฝงอยู่,
เช่นป่วยการเมือง.
(ในสังคมไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะพวกที่เรียกตนเองว่า
นักการเมือง และ บรรดา สื่อมวลชน
จะพูดถึงคำว่าการเมือง ในความหมายของภาษาพูด จึงทำให้คำว่าการเมืองมีความหมายไปในทางที่ไม่ดี
ทำให้คนไทยเข้าใจความหมายผิดๆ)
การบริหารบ้านเมือง จึงหมายความถึง
การจัดการ สั่งการ ควบคุมดูแล กิจการงาน ทั้งหลายของบ้านเมือง หรือ
ประเทศ หรือ แผ่นดิน หรือ รัฐ ซึ่งตามกฎหมายใช้คำว่า การบริหารราชการแผ่นดิน
ราชการแผ่นดิน มีมากมายหลายประเภท หลายลักษณะ ไม่สามารถทำโดยบุคคลคนเดียว หรือ คณะเดียวได้
เพราะต้องการความรู้ความสามารถ หรือความชำนาญเฉพาะแต่ละงาน
เช่น
งานเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักร, งานเกี่ยวกับการเงิน การคลัง,
งานด้านที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับต่างประเทศ, การเกษตร,
การประมง, การปศุ-สัตว์, การคมนาคม,
การขนส่ง,
การพาณิชย์, การบำบัดทุกข์บำรุงสุข, การรักษาความสงบเรียบร้อย
และ การรักษาความมั่นคงภายในประเทศ,
การศาล, การศาสนา, การศึกษา,
การแพทย์, การสาธารณสุข, การอุตสาหกรรม
เป็นต้น.
งานต่างๆเหล่านี้ เป็นงานของบุคคลผู้มี
ตำแหน่งทางราชการ ซึ่ง มีหน้าที่ และ มีอำนาจ ตามกฎหมาย
ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อ รักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และ
ให้บริการแก่ปวงชนชาวไทย (รธน.มาตรา
๗๐)
การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นหน้าที่ของใคร?
การบริหารราชการแผ่นดิน เป็นหน้าที่
ของ คณะบุคคล คณะหนึ่ง เรียกว่า คณะรัฐมนตรี แต่ รัฐมนตรี
จะบริหารราชการตามอำเภอใจไม่ได้ จะต้อง บริหารราชการแผ่นดิน ตามบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และ
ตามนโยบาย ที่ได้แถลงไว้ต่อ รัฐสภา และต้อง
รับผิดชอบ ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในหน้าที่ของตน รวมทั้ง
ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ต่อรัฐสภา ในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี
(รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช
๒๕๔๐ มาตรา ๒๐๑, ๒๑๑, และ ๒๑๒)
ในการปฏิบัติหน้าที่ บริหารราชการแผ่นดิน ผู้มีหน้าที่
จะต้องมี อำนาจ สำหรับ
ใช้บังคับบุคคลผู้อยู่ใต้อำนาจบริหารให้จำต้องปฏิบัติตาม และ อำนาจนั้นต้องเป็นอำนาจที่มีกฎหมายรับรอง
ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายบัญญัติให้ อำนาจ
กำหนดหน้าที่ และ ความรับผิดชอบ
ของเจ้าพนักงานผู้ที่มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และ กฎหมายจะต้อง
กำหนดระเบียบความเกี่ยวพันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน และ ความเกี่ยวพันระหว่างบุคคลธรรมดา กับ
เจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ด้วย
ลักษณะของความสัมพันธ์ หรือ เกี่ยวพันของบุคคล
ในเรื่องการบริหารประเทศ หรือ
บริหารบ้านเมือง เป็น
ความสัมพันธ์ ระหว่าง บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางราชการ
ให้มีหน้าที่ ปฏิบัติราชการ
ซึ่งเรียกว่า เจ้าพนักงาน กับ สามัญชน หรือบุคคลธรรมดา หรือ ความสัมพันธ์ ระหว่าง ผู้มีอำนาจปกครอง กับ
ผู้ถูกปกครอง
กฎหมายที่ใช้บริหารราชการแผ่นดิน หรือ ปกครองประเทศ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เป็นกฎหมายแม่บท ในการจัดระเบียบการปกครองประเทศ และ จะต้องมี
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง,
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
และสมาชิกวุฒิสภา, และ พระราชบัญญัติต่างๆ
ที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะ เช่น
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน , พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ,
พระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การต่างๆของรัฐ, เช่น
สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายต่างๆ, พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
,
พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่, พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ
เป็นต้น.
คำว่า บริหาร มีความหมายอีกความหมายหนึ่งว่า
ปกครอง กฎหมาย ที่บัญญัติเพื่อ ใช้ในการบริหารบ้านเมือง
หรือ บริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
ซึ่งเป็นเรื่องของเอกชน หรือเรื่องส่วนบุคคล
ในทางวิชาการ เรียกกันว่า กฎหมายปกครอง
สรุป
กฎหมายสำหรับริหารราชการแผ่นดิน (กฎหมายปกครอง) เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเป็นกรอบบังคับให้
บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางราชการ ซึ่งเรียกว่า ข้าราชการ มีหน้าที่ ต้องปฏิบัติราชการ
ตามอำนาจที่กฎหมายกำหนด เพื่อ
รักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และ ให้บริการแก่ปวงชนชาวไทย
(รัฐธรรมนูญๆ มาตรา ๗๐) (ไม่ใช่ให้มาทำตัวเป็นนายปวงชนชาวไทย)
กฎหมายปกครอง จึงมี องค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ
๕ ประการ คือ
(๑) สถาบัน (๒) ตำแหน่ง (๓) หน้าที่ (๔)
อำนาจ (๕) ความรับผิดชอบ
สถาบัน ได้แก่ ส่วนราชการ (สถานที่ทำงาน) ที่กฎหมายตั้งขึ้น เพื่อให้มีหน้าที่ และ
อำนาจในการปฏิบัติราชการ หรือ ทำงานของรัฐบาล
มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ตามหน้าที่การงาน
กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อ จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และจัดตั้งส่วนราชการได้แก่
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.
๒๕๓๔.
กฎหมาย จัดแบ่งส่วนราชการของรัฐ
หรือ ประเทศ หรือ บ้านเมือง ออกเป็น ๓ ส่วน คือ
๑. ราชการส่วนกลาง
(ราชการในเมืองที่เป็นที่ตั้งของรัฐบาล หรือ ที่เรียกว่า เมืองหลวง )
๒. ราชการส่วนภูมิภาค (ราชการในเมืองอื่นนอกจากเมืองหลวง หรือที่เรียกว่า หัวเมือง )
๓. ราชการส่วนท้องถิ่น (ราชการในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งโดยเฉพาะ)
ส่วนราชการ หรือ องค์กรสำหรับเป็นที่ปฏิบัติราชการ
มีชื่อเรียก ต่างๆกัน ได้แก่
๑. ส่วนราช ส่วนกลาง
ได้แก่
(๑).สำนักนายกรัฐมนตรี.
(๒) กระทรวง หรือ ทบวง ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง.
(๓) ทบวง ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
หรือ กระทรวง.
(๔) กรม
หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัด
หรือไม่สังกัด
สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือ ทบวง
๒. ส่วนราชการ ส่วนภูมิภาค
ได้แก่
(๑) จังหวัด
(๒) อำเภอ
๓. ส่วนราชการ ส่วนท้องถิ่น ได้แก่
(๑) องค์การบริหารส่วนจังหวัด
(๒) เทศบาล
(๓) สุขาภิบาล
(๔) ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด
ส่วนราชการที่กฎหมายจัดตั้งขึ้น ในแต่ละส่วนราชการ
มีชื่อเรียกต่างๆกันไปตามลักษณะของงานราชการ เช่น
กระทรวงกลาโหม กฎหมายกำหนดให้เป็นสถาบัน ที่ มี อำนาจหน้าที่
เกี่ยวกับ การป้องกัน
และรัษาความมั่นคงของราชอาณาจักร
จากภัยคุกคามทั้งภายนอก และ ภายในประเทศ
กระทรวงยุติธรรม กฎหมายกำหนดให้เป็น สถาบัน ที่มี อำนาจหน้าที่ เกี่ยวกับการศาลยุติธรรม
แต่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี. (มาตรา ๒๔)
ในส่วนราชการที่ชื่อ กระทรวงยุติธรรม กฎหมายยังกำหนดให้มีส่วนราชการย่อยลงไป
เพื่อแบ่งหน้าที่การงานภายในอีก คือ (๑) สำนังานเลขานุการรัฐมนตรี (๒) สำนักงานปลัดกระทรวง (๓)
กรมคุมประพฤติ (๔) กรมบังคับคดี
(๕) สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ. (มาตรา ๒๒)
ตำแหน่ง หมายความถึง
ฐานะทางราชการ ของข้าราชการที่ปฏิบัติราชการในส่วนราชการต่างๆ มีหน้าที่ และ
อำนาจ ตามที่กฎหมายกำหนด มีชื่อเรียกต่างๆกันไป เช่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เป็นตำแหน่งบริหารสูงสุดในกระทรวง มีฐานะเป็น
ผู้บังคับบัญชาข้าราชการทั้งหมดในกระทรวง
มีอำนาจกำหนดนโยบายของกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรืออนุมัติ
และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวง.
หน้าที่ หมายความถึง
การงานที่ควรทำ, การงานที่ต้องทำ, วงแห่งกิจการ.
กฎหมายจะกำหนด หน้าที่
ไว้ให้ผู้ที่มี ตำแหน่ง ต่างๆในราชการต้องปฎิบัติ. เช่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่
เกี่ยวกับการศาลยุติธรรม แต่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา
การศาสนา และการวัฒนธรรม.
อำนาจ หมายความถึง
๐ อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่.
๐ ความสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์.
หน้าที่ และ อำนาจ เป็นของคู่กัน และจะต้องเป็น หน้าที่ และ อำนาจตามกฎหมายเท่านั้น
กฎหมายมักจะใช้เป็นคำรวมกันไป คือ อำนาจหน้าที่
กฎหมายจะกำหนด หน้าที่ และ อำนาจออกเป็น ๒ ประการ คือ อำนาจหน้าที่ของสถาบัน ที่เป็น ส่วนราชการ
ซึ่งจะกำหนดไว้เป็นกรอบกว้างๆ กับ หน้าที่
และ อำนาจของบุคคล ที่เป็น ข้าราชการ หรือ เจ้าพนักงาน
ที่ดำรงตำแหน่งต่างๆในส่วนราชการต่างๆ.
การปฏิบัติหน้าที่บางอย่างไม่ต้องใช้อำนาจ เช่น หน้าที่ทำความสะอาดสถานที่ราชการ หน้าที่ส่งเอกสาร
หน้าที่ของพนักงานการพิมพ์หนังสือ เป็นต้น.
ความรับผิดชอบ หมายความถึง
การยอมตามผลที่ดี หรือ ไม่ดีในกิจการ ที่ได้ทำไป.
แต่ เมื่อนำไปใช้ในกฎหมายที่กำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานไว้ จะหมายความถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่
ซึ่งหมายความถึงภาระหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ให้สำเร็จ
ลุล่วงไปด้วยดี เกิดประโยชน์
แก่ทางราชการ และปวงชนชาวไทย สมความมุ่งหมาย หรือ เป้าประสงค์ ของทางราชการ หากทำไม่สำเร็จ หรือ
ทำแล้วเกิดความบกพร่องเสียหาย ก็ไม่ได้รับ ความดีความชอบ ซึ่ง อาจถูกโยกย้าย ให้พ้นจากหน้าที่ได้
หากเกิดความเสียหายเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามความนิยม หรือ ความต้องการของสังคม หรือ ของบุคคลที่รู้ผิด
รู้ชอบ ตามปกติ ที่ในทางกฎหมายใช้คำว่า
"วิญญูชน" อาจต้องมีความผิดทางวินัย
หรืออาจต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานละเมิดได้
หากกระทำการใดๆอันเข้าลักษณะที่กฎหมายถือว่าเป็นการทำละเมิด ยิ่งกว่านั้น
หากการกระทำเข้าลักษณะที่กฎหมายอาญา บัญญัติว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ ก็ต้องรับโทษทางอาญาอีกด้วย.
(๒) บทบัญญัติที่ใช้บังคับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
(ไม่เกี่ยวกับ การบริหารกิจการบ้านเมือง)
ข้อบังคับของกฎหมายประเภทนี้ ไม่ใช่ข้อบังคับ ที่บัญญัติ เพื่อประโยชน์ในการบริหารบ้านเมือง
ซึ่งเป็นเรื่องของทางราชการเหมือนกฎหมายปกครอง หากแต่บัญญัติ เพื่อ กำหนดระเบียบความสัมพันธ์
หรือความเกี่ยวพัน ระหว่าง บุคคล.
คำว่า บุคคล
หมายความถึงบุคคลตามความหมายของกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่บัญญัติถึงเรื่องของบุคคลไว้
ได้แก่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ ลักษณะ ๒ แบ่งบุคคลออกเป็น ๒
ประเภท คือ
(๑) บุคคลธรรมดา
(๒) นิติบุคคล.
(๑) บุคคลธรรมดา หมายความถึง คน หรือ มนุษย์ ซึ่งสามารถมีสิทธิ และหน้าที่ตามกฎหมาย.
(๒) นิติบุคคล หมายความถึง กลุ่มบุคคล หรือ องค์กร ซึ่งกฎหมาย บัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง
ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และ ให้มีสิทธิ และ
หน้าที่ตามกฎหมาย
องค์กรนั้นอาจเป็นองค์กรของรัฐที่กฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลด้วย.
นิติบุคคลจะต้องมี ผู้แทนของนิติบุคคล คนหนึ่ง หรือหลายคน
ตามที่ กฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง
กำหนดไว้ เป็น ผู้แสดงออกถึงความประสงค์ของนิติบุคคลนั้น
(มาตรา ๗๐).
กฎหมายประเภทนี้ จะวางระเบียบความเกี่ยวพันระหว่างบุคคล
ในเรื่องที่เกี่ยวกับ สถานภาพ สิทธิ หน้าที่ และ
ความรับผิด ของบุคคล และ ความเกี่ยวพันทาง การค้า หรือ ธุรกิจ
ระหว่างบุคคล ทั้งบุคคลธรรมดา
และนิติบุคคล ตามกฎหมาย ได้แก่ กฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายอาญา และ
พระราชบัญญัติต่างๆที่มีลักษณะเดียวกัน.
สำหรับกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายที่มีลักษณะแตกต่างจาก กฎหมายแพ่ง และกฎหมายพาณิชย์ โดยกฎหมายอาญา
จะมุ่งเน้นถึง การทำโทษ บุคคลผู้ก่อให้เกิดความเดือดร้อน
ความเสียหาย ต่อความมั่นคงของประเทศ ต่อ ชีวิต
ร่างกาย อนามัย สิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศชื่อเสียง และทรัพย์สินของบุคคลอื่น หรือ แก่สังคมโดยรวม เป็นต้น
โดยจะกำหนดลักษณะของการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิด
และกำหนดโทษทางอาญาสำหรับการกระทำที่ถือเป็นความผิดไว้.
กฎหมายเอกชนจึงมีองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ ๔ ประการคือ
(๑) สถานภาพ (๒) สิทธิ (๓)หน้าที่ (๔)
ความรับผิด
(๑) สถานภาพ
หมายความถึง ฐานะ ตำแหน่ง หรือ เกียรติยศ ของบุคคลที่ปรากฎในสังคม.
ฐานะ หมายความถึง
ความเป็นอยู่ในครอบครัว, ความเป็นอยู่ในสังคม.
ความเป็นอยู่ในครอบครัว ได้แก่ในฐานะเป็น บิดา มารดา เป็นบุตร หลาน
ความเป็นอยู่ในสังคม ได้แก่ ในฐานะเป็นประธานในที่ประชุม เป็นหัวหน้าครอบครัว หัวหน้ากลุ่ม.
ตำแหน่งของบุคคลธรรมดา ไม่ใช่ ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ
แต่เป็น ตำแหน่งหน้าที่การงาน ของเอกชน
เช่นประธานบริษัท ประธานมูลนิธิ หรือประธานกรรมการ หรือกรรมการองค์กรของเอกชน.
(๒) สิทธิ หมายความถึง
อำนาจที่จะกระทำการใดๆได้ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย.
สิทธิ ไม่เหมือนกับ อำนาจ มีความแตกต่างกันอย่างมาก
เพราะ สิทธิ
ไม่สามารถใช้บังคับบุคคลอื่นให้ปฏิบัติตามที่ตนต้องการได้ การที่เรามีสิทธิ หรือ เป็นผู้ทรงสิทธิ
เป็นเพียง การก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นที่จะต้องละเว้นไม่กระทำการใดๆอันเป็นการล่วงสิทธิ หรือ
ละเมิดสิทธิของเรา เท่านั้น.
การใช้สิทธิ ที่กฎหมายกำหนดให้มีนั้น ก็ใช้ได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่น
ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ของประชาชน
หากมีบุคคลอื่นละเมิดสิทธิ ล่วงสิทธิ หรือโต้แย้งสิทธิ เราก็ไม่สามารถบังคับด้วยตนเอง
เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผู้ทรงสิทธิจะต้องใช้สิทธิฟ้องร้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่
ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จัดการให้
ตามบทบัญญัติของกฎหมาย เช่นนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล
เพื่อให้ศาลพิพากษาบังคับให้ หรือ ใช้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
(รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๒๖, ๒๗, ๒๘)
สิทธิมีหลายประเภท ได้แก่
(๑) สิทธิในชีวิตและร่างกาย.
(๒) สิทธิในชื่อเสียง.
(๓) สิทธิในทรัพย์สิน และ.
(๔) สิทธิอื่นๆตามที่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์ไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ บัญญัติไว้ โดยกำหนดให้ออกกฎหมาย
ในภายหลัง เช่น สิทธิที่จะได้รับการให้บริการจากรัฐ ในเรื่องการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า ๑๒
ปี โดยรัฐไม่เก็บค่าใช้จ่าย,
สิทธิของบุคคลที่มีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์
ที่จะได้รับความช่วยเหลือให้มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ,
สิทธิของคนพิการ
ที่จะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก, สิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐ,
สิทธิที่จะฟ้องร้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย.
(๑) สิทธิในชีวิตและร่างกาย
ได้แก่สิทธิที่จะดำรงความเป็นอยู่ สิทธิที่จะกระทำการใดๆ หรือ
แสดงกริยาอาการใดๆ หรือพูดได้โดยอิสระ โดยได้รับการรับรองคุ้มครองจากกฎหมาย
ทั้งนี้โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น (เสรีภาพ)
(๒)สิทธิในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือ
ความเป็นอยู่ส่วนตัว ได้แก่สิทธิ
ในเกียรติยศ
หรือเกียรติโดยฐานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือ ชาติชั้นวรรณะ ความยกย่องนับถือ ความมีหนัามีตา.
(๓) สิทธิในทรัพย์สิน ได้แก่สิทธิในวัตถุ ทั้งที่มีรูปร่าง และ ไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและ
ถือเอาได้.
ทรัพย์สิน มี ๒ ประเภท คือ
ก. อสังหาริมทรัพย์
๐ ทรัพย์ที่นำไปไม่ได้ คือทรัพย์ที่ติดอยู่กับที่ เช่น ที่ดิน.
๐ ที่ดิน และทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น
และให้หมายความรวมถึง ทรัพยสิทธิ อันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน
หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย.
ข. สังหาริมทรัพย์
๐ ทรัพย์ที่นำไปได้ คือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ ตรงข้ามกับอสังหาริมทรัพย์.
๐ ทรัพย์สินอื่น นอกจากอสังหาริมทรัพย์ และรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย.
สิทธิในทรัพย์สิน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เรียกสิทธิชนิดนี้ ว่า ทรัพยสิทธิ
(มาตรา ๑๒๙๘ ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น
ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้ หรือ
กฎหมายอื่น)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำนิยามความหมายของคำว่า
ทรัพยสิทธิ ไว้ว่า
ทรัพยสิทธิ หมายความถึง สิทธิเหนือทรัพย์
ที่จะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย.
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนด สิทธิเหนือทรัพย์สิน หรือ
ทรัพยสิทธิ ไว้ ๗ ชนิด คือ ( ดู
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ เรื่อง ทรัพย์สิน)
(๑) กรรมสิทธิ์
ได้แก่สิทธิทั้งปวง ที่เจ้าของมีอยู่เหนือทรัพย์สิน อันได้แก่ สิทธิใช้สอย จำหน่าย
ได้ดอกผล กับทั้งสิทธิติดตาม และเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตน
และสิทธิขัดขวางมิให้บุคคลอื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น โดยมิชอบด้วยกฎหมาย.
(มาตรา ๑๓๐๘๑๓๖๖)
(๒) สิทธิครอบครอง ได้แก่สิทธิของบุคคลที่จะยึดถือทรัพย์สินไว้
โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน. (มาตรา
๑๓๖๗๑๓๘๖)
(๓) ภาระจำยอม ได้แก่
ข้อผูกพันอันเป็นเหตุให้เจ้าของ อสังหาริมทรัพย์
จำต้องรับกรรมบางอย่าง
ซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่าง อันมีอยู่ในกรรมสิทธิทรัพย์สินนั้น
เพื่อประโยชน์แก่ อสังหาริมทรัพย์ อื่น เช่น ทางภาระจำยอม. (มาตรา ๑๓๘๗๑๔๐๑)
(๔) สิทธิอาศัย กฎหมายแพ่งและพานิชย์ กำหนดให้มีแต่ สิทธิอาศัยในโรงเรือน. (มาตรา ๑๔๐๒๑๔๐๙)
(๕) สิทธิเหนือพื้นดิน
คือ สิทธิเป็นเจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือ สิ่งเพาะปลูก บนดิน
หรือใต้ดินนั้น. (มาตรา ๑๔๑๐๑๔๑๖)
(๖) สิทธิเก็บกิน ได้แก่สิทธิ ซึ่ง
ผู้ทรงสิทธิ มีสิทธิครอบครอง ใช้ และ
ถือเอาซึ่งประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์. (มาตรา
๑๔๑๗๑๔๒๘)
(๗) ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่
ข้อผูกพัน ที่ผู้รับประโยชน์ มีสิทธิ
ได้รับชำระหนี้ เป็นคราวๆ
จาก อสังหาริมทรัพย์ ที่ตกอยู่ในภาระติดพัน หรือได้ใช้
และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินตามที่ระบุไว้.
(๑๔๒๙๑๔๓๔)
(๓) หน้าที่ หมายความถึง กิจที่ควรทำ,
กิจที่ต้องทำ, วงแห่งกิจการ.
หน้าที่มี ๒ประเภท คือ หน้าที่ตามกฎหมาย และหน้าที่ตามนิติกรรม หรือสัญญา.
หน้าที่ตามกฎหมาย ได้แก่หน้าที่ที่กำหนดไว้โดยชัดแจ้ง ตามรัฐธรรมนูญ หมวด ๔ (มาตรา ๖๖๗๐)
เช่น
มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมาย หน้าที่ป้องกันประเทศ
และ การมีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิของบุคคลอื่น
ต้องละเว้นไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น.
หน้าที่ตามสัญญา ได้แก่การมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา เช่นเป็นลูกหนี้
ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัตการชำระหนี้ตามมูลหนี้
.
หน้าที่ของสามัญชน แตกต่างจาก หน้าที่ของเจ้าพนักงาน เพราะ
หน้าที่ของเจ้าพนักงาน เป็นหน้าที่
ที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อ
รักษาประโยชน์ส่วนรวม
อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชน (มาตรา ๗๐)
(๔) ความรับผิด ความรับผิดมี ๒ ประเภท
คือ
(๑) ความรับผิดทางแพ่ง หมายถึง
การมีหน้าที่ผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระหนี้ หรือ กระทำการ
หรือ
งดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง.
(๒) ความรับผิดทางอาญา หมายความถึงการรับ โทษทางอาญาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญา.
โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิด มี ๕ ประการ
คือ
(๑) ประหารชีวิต (๒) จำคุก (๓) กักขัง (๔) ปรับ (๕)
ริบทรัพย์สิน (มาตรา ๑๘)
หมายเหตุ
บุคคล ที่ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ และอำนาจ ตามกฎหมาย (ข้าราชการ หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ)
ไม่มีความรับผิดทางวินัย
สรุป เรื่องประเภทของกฎหมาย
กฎหมาย แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
(๑) กฎหมายที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง
เป็น กฎหมายที่กำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่าง
บุคคลผู้มีอำนาจปกครอง กับ บุคคลธรรมดา
เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง กับ ผู้ถูกปกครอง
กฎหมายประเภทนี้ บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารประเทศโดยเฉพาะ ในทางวิชาการเรียกกันว่า
กฎหมายปกครอง
กฎหมายปกครอง มีองค์ประกอบ ที่เป็นสาระสำคัญ
๕ ประการ คือ ๑. สถาบัน ๒. ตำแหน่ง ๓. หน้าที่ ๔. อำนาจ ๕.
ความรับผิดชอบ.
(๒) กฎหมายที่ใช้บังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน
เป็นกฎหมายที่กำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลธรรมดา หรือ สามัญชน ด้วยกัน ทางวิชาการเรียกว่า
กฎหมายเอกชน
กฎหมายเอกชน มีองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ
๔ ประการ คือ ๑. สถานภาพ ๒. สิทธิ ๓. หน้าที่ ๔. ความรับผิด
ข้อสังเกต
๑. กฎหมายเอกชน ไม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินแต่อย่างใด
แม้ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะมีตำแหน่งหน้าที่ในทางบริหารราชการก็ตาม.
๒. กฎหมายเอกชนจะใช้คำว่า
สิทธิ ไม่ใช้คำว่า
อำนาจ.
๓. กฎหมายเอกชน ใช้คำว่า ความรับผิด
ไม่ใช้คำว่า ความรับผิดชอบ.
๔. คำว่า อำนาจ
และ ความรับผิดชอบ ในกฎหมายเอกชน
จะใช้ในกรณี ผู้แทนของนิติบุคคล หรือ
ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในสถาบันครอบครัว.
๕. ถ้อยคำต่างๆ เหล่านี้
บางครั้งกฎหมาย ก็ใช้โดยตรง บางครั้ง ใช้คำนิยามแทน
ซึ่งเมิ่อแปลความหมายกลับแล้ว
ก็จะได้ความเป็นอย่างเดียวกัน.
๔. กฎหมาย ต้องมีสภาพบังคับ
คำว่า บังคับ
เป็นคำกริยา หมายความว่า ใช้อำนาจสั่งให้ทำ
หรือสั่งให้ปฏิบัติ, ให้จำต้องทำ.
กฎหมายที่ประกาศใช้บังคับประชาชนให้ต้องปฏิบัติตามนั้น
ประกอบด้วย กฎหมาย ๒ ลักษณะ คือ
กฎหมายสารบัญญัติ
และ กฎหมายวิธีสบัญญัติ
ซึ่งต้องใช้ประกอบกัน จะขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ได้
หากขาดส่วนหนึ่งส่วนใด
กฎหมายก็จะไม่สมบูรณ์ ไม่มีสภาพบังคับ.
กฎหมายสารบัญญัติ คืออะไร?
คำว่า สาร,
สาระ หมายความว่า ส่วนสำคัญ, ข้อใหญ่ใจความ,
แก่นสาร.
กฎหมายสารบัญญัติ จึงหมายความถึง
กฎหมายที่บัญญัติ เพื่อกำหนดเนื้อหา หรือข้อความที่เป็นสารสำคัญ
เกี่ยวกับ สถาบัน สถานะ อำนาจ สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ความรับผิด ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐ ข้อห้าม ข้อบังคับต่างๆ
ได้แก่
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน, กฎหมายแพ่งและพาณิชย์, กฎหมายอาญา, และพระราชบัญญัติต่างๆ.
กฎหมายวิธีสบัญญัติ คืออะไร?
คำว่า "วิธี" หมายความว่า ทำนอง หรือหนทางที่จะทำ, แบบ,
เยี่ยงอย่าง, กฎเกณฑ์.
ตัวอักษร "ส" เป็นคำประกอบหน้าคำอื่นที่มาจากภาษาบาลี
และ สันสกฤต บ่งความว่า กอบด้วย,
พร้อมด้วย, เช่น สเทวก
หมายความว่า พร้อมด้วยเทวดา.
กฎหมายวิธีสบัญญัติ จึงหมายถึง
กฎหมายที่ ประกอบด้วย หรือพร้อมด้วย
มาตรการ แบบ วิธีการ หนทาง หรือ
แนวทาง และ ขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายสารบัญญัติ
หรือ กระบวนพิจารณา เพื่อให้กฎหมายสารบัญญัติ
มีผลบังคับที่เห็นเป็นรูปธรรม ทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม จึงจะได้รับความรับรอง คุ้มครอง บังคับตามสิทธิ
จะฝ่าฝืนไม่ได้ หากฝ่าฝืน ก็จะไม่ได้รับการรับรอง
คุ้มครอง และอาจ ได้รับโทษ หรือ
อาจถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม ได้แก่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
และกฎหมายวิธีพิจารณาคดีพิเศษต่างๆ เช่น คดีภาษี
คดีแรงงาน คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
เป็นต้น.
มาตรการบังคับของกฎหมาย
กฎหมายได้กำหนดมาตรการ และ วิธีการบังคับไว้ ๒ ประเภทคือ
(๑) การลงโทษ
(๒) การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับ.
(๑) การลงโทษ ผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายอาญา จะต้องรับผิดในทางอาญา
โดยจะต้องถูกลงโทษตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้
คำว่า "โทษ" หมายความว่า
มาตรการที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับ ดำเนินการแก่
ผู้กระทำความผิดอาญา
โทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญา มี ๕ ประการคือ
๑. ประหารชีวิต ๒. จำคุก ๓. กักขัง ๔. ปรับ ๕. ริบทรัพย์สิน
คำว่า " ลงโทษ"
หมายความว่า ทำโทษ เช่น จำขัง จำคุก เป็นต้น.
(๒) การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับ การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมาย
เป็นสภาพบังคับทางกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ การบังคับให้ชำระหนี้
หากไม่ชำระจะถูกบังคับยึดทรัพย์สินออกขายทอดตลาด
เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ หรืออาจถูกฟ้องให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย
เป็นต้น ไม่มีการลงโทษเหมือนกรณีฝ่าฝืนกฎหมายอาญา.
เว้นแต่ ในชั้นบังคับคดี บางกรณี คดีที่ศาลออกคำบังคับให้ผู้แพ้คดี
หรือ ลูกหนี้ตามคำพิพากษา (กระทำการ
หรือ งดเว้นกระทำการ)
เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว ผู้แพ้คดี หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา
จงใจไม่ปฏิบัติตามหมายบังคับคดี และผู้ชนะคดี
หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีวิธีบังคับอื่นใดที่จะใช้บังคับได้
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้อำนาจศาลที่จะออกหมายจับผู้แพ้คดี หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามากักขังไว้
เพื่อบังคับ แต่ห้ามมิให้กักขังแต่ละครั้งเกินกว่า
หกเดือน นับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี
(ป.วิแพ่ง. มาตรา ๒๙๗, ๓๐๐.)