อายัด

          1. สิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นทรัพย์สิน ตามมาตรา 138 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงสามารถอายัดได้ (กค 0802(กม)/1719 ลว. 11 สิงหาคม 2536)


           2.
การอายัดบัญชีเงินฝากธนาคารนั้น มีสิทธิอายัดแต่เฉพาะเงินสดในบัญชีเงินฝากเท่ากับจำนวนค่าภาษีอากร รวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่คำนวณถึงวันที่ธนาคารนำส่งเงินตามอายัด (กค 0811 /1060 ลว. 4 กุมภาพันธ์ 2542)


           3.
กรณีที่ผู้ค้างฯ มอบสมุดฝากเงินไว้เป็นประกันหนี้ต่อธนาคาร มิใช่การจำนำตราสารสิทธิ ธนาคารไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิจำนำที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่น ธนาคารต้องนำส่งเงินตามคำสั่ง อายัด ธนาคารจะหักเงินในบัญชีเงินฝากก่อนนำส่งเงินส่งให้กรมสรรพากรไม่ได้ (กค 0802(กม)/0392 ลว. 8 มีนาคม 2539, กค 0811(กม)/937 ลว. 20 พฤษภาคม 2541, กค 0811/17057 ลว. 17 ธันวาคม 2541, กค 0811(กม)/1002 ลว. 21 กรกฎาคม 2542)


           4.
กรณีผู้ค้างฯ มีบัญชีเงินฝากที่มีแต่ยอดเงินกู้เกินบัญชีที่ผู้ค้างฯ เป็นหนี้ธนาคารและมีวงเงิน ที่เหลือตามสัญญา ถือเป็นการก่อหนี้มิใช่เกิดสิทธิเรียกร้องให้ได้รับชำระหนี้อันเป็นทรัพย์สินของผู้ค้างฯ จึงไม่มีเงินที่จะเป็นทรัพย์ของผู้ค้างฯ ตามบัญชีเงินฝากที่ธนาคารจะนำส่งให้ได้ตามคำสั่งอายัด (กค 0811 /08388 ลว. 17 สิงหาคม 2542, กค 0811/ก.130 ลว. 6 สิงหาคม 2544)


           5.
กรณีผู้ค้างฯ มีบัญชีเงินฝากธนาคาร แต่ติดภาระผูกพันตามเงื่อนไขสัญญากับส่วนราชการ ถือว่าเป็นข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา ไม่ผูกพันกรมสรรพากรซึ่งเป็นบุคคลภายนอก เมื่ออายัดบัญชีเงินฝากธนาคารต้องนำส่งเงินตามคำสั่งอายัดให้กรมสรรพากร หากธนาคารไม่นำส่งเงินตามคำสั่งอายัด ต้องออกคำสั่งเตือนให้ธนาคารปฏิบัติตามคำสั่งอายัดอีกครั้ง ถ้ายังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดให้ดำเนินคดีอาญา ตามมาตรา 35 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และดำเนินคดีแพ่งบังคับให้ธนาคารนำสั่งเงินตามคำสั่งอายัด ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎกร (กค 0811(กม)/452 ลว. 25 มีนาคม 2542, กค 0811 (กม)/196 ลว. 28 พฤศจิกายน 2542)


           6.
กรณีผู้ค้างฯ มีกรรมสิทธิ์ในอาคารชุด กรมสรรพากรสามารถยึดกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดได้ แต่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินส่วนกลางไม่ได้ (กค (กม)/912 ลว. 21 เมษายน 2536)


           7.
กรณีผู้ค้างฯ โอนสิทธิเรียกร้องในการรับค่าจ้างโดยทำเป็นหนังสือและได้บอกกล่าวเป็นหนังสือแล้ว ถือว่าสมบูรณ์ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิที่จะได้รับเงินค่าจ้าง ตกเป็นของผู้รับโอน และขาดจากการเป็นสิทธิหรือทรัพย์สินของผู้ค้างฯ จึงอายัดสิทธิเรียกร้องที่โอนไปแล้วไม่ได้ ผกค 0811(กม)/1754 ลว.28 กันยายน 2541)


          8.
กรณีผู้ค้างฯ ถือหุ้นในนิติบุคคล กรมสรรพากรสามารถอายัดเงินค่าหุ้น เงินผลกำไร และเงินปันผลหรือดอกเบี้ยได้ เพราะผู้ค้างฯ มีสิทธิเรียกร้องจากนิติบุคคลเอาผลกำไรหรือถอนค่าหุ้น (กค 0802/6721 ลว. 18 ธันวาคม 2527, กค 0802(กม)/1830 ลว.21 กันยายน 2537, กค 0811/3376 ลว. 4 ตุลาคม 2539)


          9.
กรณีผู้ค้างฯ ได้รับเงินเดือน เงินค่าตอบแทน เงินค่าป่วยการ เงินประจำตำแหน่งและเบี้ยประชุม และเงินดังกล่าวมิได้มีการเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน ไม่ถือว่าเป็นเงินเดือน กรมสรรพากรสามารถอายัดได้ (กค 0802/4276 ลว. 7 มีนาคม 2537, กค 0802/19584 ลว. 26 ตุลาคม 2537, กค 0811(กม.01)/340 ลว. 7 มีนาคม 2543)


          10.
กรณีชื่อบัญชีเงินฝากเป็นของผู้ค้างฯ เพื่อบุตรผู้เยาว์ สิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากเป็นสิทธิเรียกร้องของผู้ค้างฯ จึงสามารถอายัดได้ (กค 0811/10047 ลว. 24 กันยายน 2542, กค 0706/6178 ลว. 2 กรกฎาคม 2546)


          11.
กรณีได้ดำเนินการอายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากแล้ว ต่อมาผู้ค้างฯ ได้นำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรครบถ้วน หรือได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วโดยวิธีอื่นๆ แต่ยังมิได้ถอนคำสั่งอายัด ต่อมาภายหลังปรากฏว่าผู้ค้างฯ ยังคงมีหนี้ภาษีอากรอีกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่เกินมูลหนี้ที่ได้อายัดไว้แต่เดิม กรณีดังกล่าวไม่ถือว่าคำสั่งอายัดฉบับเดิมมีผลรวมไปถึงจำนวนหนี้ภาษีอากรที่ได้ตรวจพบใหม่ ดังนั้น ให้ถอนคำสั่งอายัดฉบับเดิม และให้ออกคำสั่งอายัดฉบับใหม่เพื่ออายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากของผู้ค้างฯ ในจำนวนหนี้ใหม่ในคราวเดียวกัน (กค 0706/6178 ลว. 2 กรกฎาคม 2546)


          12.
กรณีผู้ค้างฯ มีสิทธิได้รับเงินค่าปรับคืนจากกรมชลประทานซึ่งเป็นเงินกู้จาก OECF โดยจ่ายผ่านธนาคารกรุงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ ดังนั้น จึงสามารถอายัดเงินดังกล่าวไปยังธนาคารกรุงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ได้


               
กรณีสัญญาค้ำประกันของธนาคารที่ค้ำประกันผู้ค้างฯ ให้ปฏิบัติตามสัญญานั้น ไม่ได้เป็นการค้ำประกันหนี้ภาษีอากร และไม่ใช่เงินที่บุคคลภายนอกจะต้องชำระให้แก่ผู้ค้างฯ กรมสรรพากรจึงไม่สามารถอายัดได้ (กค 0802(กม)/1909 ลว. 4 ตุลาคม 2537)


          13.
กรณีอายัดบัญชีเงินฝากธนาคารและธนาคารได้นำส่งเงินตามคำสั่งอายัดแล้ว ต่อมาปรากฏว่าเจ้าของบัญชีเงินฝากเป็นคนละคนกับผู้ค้างฯ จึงเป็นกรณีที่อายัดผิด ต้องดำเนินการถอนคืนเงินตามที่อายัดผิดซึ่งชำระเป็นหนี้ภาษีอากรและได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว ให้แก่เจ้าของบัญชีเงินฝากต่อไป (กค 0811/10786 ลว.16 กรกฎาคม 2541)


          14.
กรณีกระทรวงการคลังยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ค้างฯ ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เพื่อรอผลการดำเนินคดี กรมสรรพากรสามารถยึดอายัดตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรได้ ไม่ถือว่าเป็นการยึดหรืออายัดซ้ำ เนื่องจากทรัพย์สินมิได้ถูกยึดหรืออายัดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี


               
หากกระทรวงการคลังยอมส่งมอบทรัพย์สินที่อายัดและกรมสรรพากรได้นำทรัพย์สินมาชำระหนี้ภาษีอากรแล้ว ต่อมาผลการดำเนินคดีผู้ค้างฯ ต้องใช้ค่าเสียหายแก่ประชาชนผู้ให้กู้ยืมและหากมีการบังคับคดี กรมสรรพากรไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด เนื่องจากถือเป็นเงินที่กรมสรรพากรได้มีคำสั่งยึดหรืออายัดตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อบังคับชำระหนี้สำเร็จบริบูรณ์ตามกฎหมาย แล้ว


               
หากกระทรวงการคลังไม่ยอมส่งมอบทรัพย์สินที่อายัด หากมีการบังคับคดี กรมสรรพากร มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ ตามมาตรา 290 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (กค 0802/806 ลว. 21 มิถุนายน 2538)


          15.
กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นหนี้ภาษีอากรและสามีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าหนี้ภาษีอากรดังกล่าวเป็นหนี้ที่สามีและภริยาต้องรับผิดร่วมกัน ตามมาตรา 1490 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อสอบสวนทรัพย์พบว่าสามีมีเงินฝากในธนาคารในชื่อของภริยา ย่อมใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ยึดหรืออายัดสินสมรสส่วนของสามีได้ แต่จะยึดหรืออายัดสินส่วนตัวของภริยาไม่ได้ ต้องดำเนินการทางศาลเท่านั้น (กค 0811/5816 ลว. 28 มิถุนายน 2545)


          16.
กรณีผู้ค้างฯ มีกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรรัฐบาล กรมสรรพากรอายัดได้ ถึงแม้จะโอนกรรมสิทธิ์ ให้การไฟฟ้านครหลวงเพื่อประกันการใช้ไฟฟ้าแล้ว ก็อายัดได้ (กค 0802/14216 ลว. 14 กันยายน 2532)


          17.
คำสั่งอายัดตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร หมายความรวมถึงการสั่งให้บุคคลภายนอกส่งมอบทรัพย์สินของผู้ค้างฯ ต่อเจ้าพนักงานด้วย และเมื่อทรัพย์สินของผู้ค้างฯ มาอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานแล้ว เจ้าพนักงานสามารถนำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ภาษีอากรได้ (กค 0732/ก.1248 ลว. 9 ตุลาคม 2546)

space