การขายทอดตลาด

            1. การมอบอำนาจสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรในการใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ในการสั่งยึด หรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นจะมอบอำนาจให้ได้เฉพาะรองอธิบดี หรือสรรพากรภาค เท่านั้น (หนังสือที่ กค 0706 (กม.04)/405 ลว. 18 เมษายน 2546)


           2.
ส่วนในจังหวัดอื่นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอนั้น รวมถึงผู้รักษาการแทนด้วย (หนังสือที่ กค 0802/12582 ลว. 12 กันยายน 2529)


           3.
กรณีได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินตามประกาศกรมสรรพากรเรื่องขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนวน 3 ครั้งแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถขายทอดตลาดได้ สำนักงานสรรพากรพื้นที่จะต้องรายงานสรรพากรภาค ในฐานะผู้มีอำนาจสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินเพื่อพิจารณาสั่งการและลงนามอนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินต่อไป (หนังสือที่ กค 0732/12703 ลว. 22 ธันวาคม 2546)


           4.
คณะกรรมการขายทอดตลาดไม่มีอำนาจโอนกรรมสิทธิ์ให้กับผู้ซึ่งชำระเงินแก่กรมสรรพากร ที่มิได้เป็นการซื้อจากการประมูลขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรค้าง (หนังสือที่ กค 0811/5693 ลว. 22 พฤศจิกายน 2539)


           5.
หากที่ดินซึ่งจะดำเนินการขายทอดตลาดมีภาระจำยอม คณะกรรมการขายทอดตลาดจะต้องแจ้งให้ผู้ซื้อรับทราบเงื่อนไขภาระจำยอมของที่ดินดังกล่าวด้วย (หนังสือที่ กค 0811 (กม)/836 ลว. 1 กันยายน 2540)


           6.
ในกรณีที่มีผู้ร้องคัดค้านการขายทอดตลาด ว่าการประเมินนั้นเนื่องมาจากมีการปลอมเอกสาร โดยอ้างว่าจะได้ดำเนินการฟ้องศาลขอให้เพิกถอนหรือทำลายสัญญาปลอม เจ้าหน้าที่ควรชะลอการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าว และติดตามก่อนว่ามีการฟ้องคดีทางศาลหรือไม่ และผลของคดีเป็นอย่างไร (หนังสือด่วนที่สุดที่ กค 0802/752 ลว. 18 มกราคม 2536)


           7.
หากมีผู้อ้างว่าที่ดินซึ่งดำเนินการขายทอดตลาดนั้นเป็นกรรมสิทธิ์รวมเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆแล้วเห็นว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวม กรมสรรพากรจะต้องคืนเงินส่วนนั้นให้กับผู้ร้องนั้น (หนังสือที่ กค 0811/5816 ลว. 28 มิถุนายน 2545)


           8.
ในกรณีที่ดินซึ่งดำเนินการขายทอดตลาดนั้นติดจำนองอยู่ เมื่อขายทอดตลาดที่ดินนั้นแล้ว จะต้องนำไปชำระหนี้จำนองพร้อมดอกเบี้ยก่อน เงินที่เหลือจึงจะนำมาชำระหนี้ภาษีอากรค้าง (หนังสือที่ กค 0811/ก.130 ลว. 6 สิงหาคม 2544)


           9.
ในกรณีผู้ค้างนำทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตนมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระภาษีอากรกับกรมสรรพากร กรมสรรพากรสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ยึดและขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวโดยมิต้องฟ้องบังคับจำนองก่อนก็ได้แต่หากที่ดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น กรมสรรพากรจะต้องฟ้องบังคับจำนองเอากับทรัพย์สินจำนองเท่านั้น จะใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ได้เนื่องจากไม่ใช้ทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร (หนังสือที่ กค 0811/5214 ลว. 12 มิถุนายน 2545)


           10.
การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากการขายทอดตลาดนั้น หากผู้ซื้อได้ประสงค์จะให้โอนให้แก่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ซื้อจากการขายทอดตลาด กรมสรรพากรมีอำนาจที่จะทำการโอนดังกล่าวได้ แต่ต้องชำระให้กรมสรรพากรครบถ้วนก่อน (หนังสือที่ กค 0802/5301 ลว. 30 เมษายน 2529)


           11.
กรณีหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดยินยอมให้ห้างฯ ใช้ชื่อของตนระคนกับห้างฯ จึงต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรค้าง เสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด จึงสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 12 กับหุ้นส่วนคนนั้นได้ (หนังสือที่ กค 0811(กม.10)/229 ลว. 21 ธันวาคม 2542)


           12.
ที่ดินที่ตั้งอาคารชุดและที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางนั้นไม่สามารถยึดและขายทอดตลาดได้ ตามพ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 แต่กรรมสิทธิ์ในห้องชุด แต่ละห้องนั้นสามารถยึดและขายทอดตลาดได้ (หนังสือที่ กค 0802(กม)/912 ลว. 21 เมษายน 2536 และหนังสือที่ กค 0811(กม.04)/468 ลว. 28 มีนาคม 2543)


           13.
กรณีที่ผู้ค้างภาษีอากรมีเจตนาอุทิศที่ดินเพื่อสร้างวัด ที่ดินดังกล่าวก็ตกเป็นของวัดทันที โดยมิต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการยกให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี ไม่สามารถยึดและขายทอดตลาดได้ (หนังสือด่วนที่สุดที่ กค 0811/ก.592 ลว. 18 กันยายน 2543)


           14.
ในกรณีที่บริษัทถูกประเมินภาษีในฐานะตัวแทนของตัวการซึ่งเป็นบริษัทในต่างประเทศ หากตัวการนั้นมีทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทย ย่อมมีอำนาจยึดหรืออายัดและขายทอดตาดทรัพย์สินนั้นได้ (หนังสือด่วนที่ กค 0802/3428 ลว. 9 มีนาคม 2530)


           15.
ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงเลื่อยเป็นใบอนุญาตที่ออกให้ตามความใน พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งสามารถโอนได้เมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงสามารถดำเนินการยึด หรืออายัดและขายทอดตลาดสิทธิตามใบอนุญาตได้เมื่อได้รับความยินยอมจากพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว (หนังสือด่วนมากที่ กค 0802/26172 ลว. 24 ธันวาคม 2536)


           16.
หากปรากฏว่าปีภาษีใดสามีมีเงินได้ฝ่ายเดียวแล้วหนี้ภาษีอากรเกิดขึ้นเนื่องจากเงินได้ของสามีเพียงฝ่ายเดียวดังกล่าว ภริยาก็ไม่ต้องรับผิดในการเสียภาษีที่ค้างชำระ ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร จึงยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินเฉพาะสินส่วนตัวของสามีหากไม่พอชำระหนี้ก็สามารถยึดสินสมรสได้ แต่เมื่อมีการขายทอดตลาดแล้ว จะนำเงินมาชำระภาษีอากรค้างได้เฉพาะตามส่วนของสามีเท่านั้น แต่ถ้าปรากฏว่าในปีภาษีที่ถูกประเมินดังกล่าวภริยามีเงินได้แม้เจ้าพนักงานจะมิได้นำมารวมคำนวณเพื่อประเมินภาษีด้วยก็ตาม ก็ถือว่าเป็นกรณีที่มีเงินได้ทั้งสองฝ่ายแล้ว เมื่อได้แจ้งให้ภริยาทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ภริยาก็ต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากร ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถ้าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1490 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. ที่มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 57 ตรี จะต้องดำเนินคดีทางศาล จะใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของภริยาไม่ได้ (หนังสือที่

กค 0802/17720 ลว. 7 สิงหาคม 2538 ,หนังสือที่ กค 0802/10114 ลว. 13 มิถุนายน 2538,หนังสือที่ กค 0811(กม.12/923 ลว. 27 มิถุนายน 2545)


           17.
กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นหนี้ภาษีอากร สามารถยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของหุ้นส่วนผู้จัดการได้ทั้งสินส่วนตัวและสินสมรส แต่ในส่วนของสินสมรสนั้นแม้จะปรากฏว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาด้วยก็ตาม แต่เนื่องหนี้ร่วมดังกล่าวเกิดจากมูลหนี้ของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่ใช่ของสามีโดยตรง ไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรดำเนินการยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินส่วนตัวและสินสมรสส่วนของภริยาได้ คงต้องดำเนินคดีทางศาลต่อไป (หนังสือที่ กค 0802/5714 ลว. 10 เมษายน 2539)


           18.
กรณีสิทธิการเช่าอาคารนั้น ถ้ามีข้อสัญญายกเว้นให้โอนก็ได้ ถ้าได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า สิทธิการเช่านั้นสามารถยึดและขายทอดตลาดได้ แต่ในการนำออกขายทอดตลาดหรือโอนสิทธิการเช่าจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่า (หนังสือที่ กค 0802(กม)/105 ลว. 21 มกราคม 2537)


           19.
สิทธิตามสัมปทานป่าเลนไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัว เพียงแต่ตามข้อ 26 แห่งสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดา (ไม้ป่าเลน) ระบุให้อำนาจผู้ให้สัมปทานมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนสัมปทานได้เท่านั้น ก่อนขายทอดตลาดจึงต้องติดต่อประสานงานกับผู้ให้สัมปทานเสียก่อน เพื่อขอสิทธิให้ผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดมีสิทธิในสัมปทานนั้นเสียก่อน (หนังสือที่ กค 0802/4543 ลว. 19 เมษายน 2538)


           20.
หากสภาพที่ดินของผู้ค้างภาษีอากรเป็นซอยซึ่งประชาชนใช้เป็นทางออกเป็นเวลานาน หากไม่มีข้อเท็จจริงใดพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ค้างภาษีอากรได้แสดงเจตนาหรืออุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว ก็สามารถยึดและขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวได้ (หนังสือที่ กค 0811(กม)/939 ลว. 8 กันยายน 2540)


           21.
กรณีผู้ค้างชำระภาษีอากรได้ชำระมูลค่าหุ้นเต็มจำนวนแล้ว หุ้นจึงเป็นทรัพย์สินของผู้ถือหุ้น ซึ่งสามารถยึด หรืออายัด และขายทอดตลาดได้ (หนังสือที่ กค 0811/3376 ลว. 4 ตุลาคม 2539)


           22.
กรณีที่มีผู้คัดค้านเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินว่าที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์รวมที่มีการแบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัดแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูว่าที่ดินดังกล่าวได้แบ่งการครอบครองเป็นส่วนสัดหรือไม่ หากแบ่งกันเป็นส่วนสัดแล้วต้องถอนการยึดทรัพย์สินในส่วนที่มิใช่ของผู้ค้างภาษีอากรนั้น จะทำการขายที่ดินนั้นทั้งแปลงมิได้ (หนังสือด่วนที่สุดที่ กค 0802(กม)/110 ลว. 24 มกราคม 2537)


           23.
การคัดค้านการยึดทรัพย์สินนั้น ต้องเป็นการคัดค้านว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของผู้ค้างภาษีอากร การที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ ขอถอนการยึดทรัพย์สินเพื่อจะนำที่ดินไปดำเนินการตามขั้นตอนของบริษัทฯ จึงมิใช่การคัดค้านการยึดทรัพย์สิน นั้น และเมื่อทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้ค้างภาษีอากร ก็สามารถดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวได้ (หนังสือด่วนที่สุดที่ กค 0811/03096 ลว. 2 เมษายน 2542)

space