ยึด

            1. ที่ดินของผู้ค้างฯ ที่กรมสรรพากรได้ยึดไว้ ติดภาระจำนองอยู่กับธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ต่อมาได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้จำนองให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ตามมาตรา 349 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิทธิจำนองที่มีอยู่ซึ่งเกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวย่อมตกแก่เจ้าหนี้ผู้รับโอนด้วย ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การโอนสิทธิการรับจำนองดังกล่าวสามารถกระทำได้ตามกฎหมาย และมิได้ทำให้กรมสรรพากรในฐานะเจ้าหนี้ต้องเสื่อมสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้จากที่ดินแปลงดังกล่าว หากจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนโดยการโอนสิทธิการรับจำนอง เจ้าพนักงานที่ดินสามารถดำเนินการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากกรมสรรพากร (กค 0811(กม.07)/1231 ลว. 2 ก.ย.2545)


                 
บริษัทบริหารสินทรัพย์รับโอนสิทธิจำนองในฐานะผู้รับจำนองจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด (มหาชน) ไม่กระทบต่อคำสั่งยึดทรัพย์สินผู้ค้างภาษีของกรมสรรพากร กรมสรรพากรยังคง มีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรเอากับที่ดินที่ยึดต่อจากผู้รับโอนสิทธิจำนอง ซึ่งมีบุริมสิทธิพิเศษเหนือที่ดินที่ยึดเช่นเดิม (กค 0811/11191 ลว.2 พ.ย.2542 กค 0811(กม.01)/198 ลว.2 ก.พ.2544 กค 0811/6259 ลว.28 ก.ค.2543)


                 
การทำนิติกรรมจำนองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้แก่ผู้รับจำนองยังคงเป็นของผู้จำนอง มิได้โอนไปยังผู้รับจำนอง ดังนั้น การรับโอนสิทธิจำนองย่อมไม่กระทบต่อประกาศยึดทรัพย์สินผู้ค้างภาษีอากรของกรมสรรพากร โดยกรมสรรพากรยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรเอากับที่ดินที่ยึดตามลำดับแห่งบุริมสิทธิ (กค 0811(กม.02)/421 ลว.29 พ.ย.2542)


            2.
คำสั่งห้ามชั่วคราวของศาลแพ่งมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินของผู้ค้างฯ เป็นวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา เพื่อคุ้มครองป้องกันผลประโยชน์ของเจ้าหนี้ให้ได้รับผลตามคำพิพากษาโดยบริบูรณ์ มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง จึงมีผลเพียงห้ามมิให้จำเลยทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดิน มิได้หมายความว่าเป็นการห้ามยึดหรืออายัดตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น จึงไม่ต้องห้ามมิให้ทำการยึดทรัพย์ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0811(กม.13)/1291 ลว.11 ก.ย.2545)


            3.
จังหวัดฯ ได้ยึดที่ดินของผู้ค้างฯ โดยติดภาระจำนอง ต่อมาผู้ร้องอ้างว่าได้ซื้อที่ดินจากผู้ค้างฯ แต่ปรากฏว่ามิได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การซื้อขายที่ดินดังกล่าว จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อปรากฏว่าขณะทำการยึดที่ดินดังกล่าวมีชื่อของผู้ค้างฯ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ จึงย่อมมีอำนาจยึดที่ดินดังกล่าวมาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ภาษีอากรค้างตามระเบียบฯ ได้ การที่ผู้ร้องอ้างว่าได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินและมีสิทธิต่อกันอย่างไร ผู้ร้องจะต้องดำเนินการฟ้องร้องกับทายาทของผู้ค้างฯ ไม่ผูกพันกรมสรรพากรซึ่งเป็นบุคคลภายนอก (กค 0811(กม.13)/1292 ลว.11 ก.ย.2545)


            4.
ห้างฯ มีหนี้ภาษีอากรค้าง จากการเร่งรัดพบว่าคู่สมรสของหุ้นส่วนผู้จัดการมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งได้มาในระหว่างการสมรส ซึ่งหากไม่มีข้อเท็จจริงอื่นใดที่ชี้ชัดหรือแสดงว่าเป็นสินส่วนตัวของคู่สมรส จึงเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส หากปรากฏว่าห้างฯ และหุ้นส่วนผู้จัดการไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ได้ แต่คู่สมรสมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งได้มาระหว่างสมรส เจ้าพนักงานฯ ย่อมมีอำนาจยึดและขายทอดตลาดเฉพาะส่วนที่เป็นสินสมรสของผู้ค้างฯ ได้ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0811(กม.12)/923 ลว.27 มิ.ย.2545


                 
ห้างฯ มีหนี้ภาษีอากรค้าง และสามีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนี้ภาษีอากรดังกล่าวเป็นหนี้ที่สามีภรรยาต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา 1490 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อการสอบสวนทรัพย์พบว่าสามีมีสินสมรสเป็นเงินฝากในธนาคารในชื่อของภริยา เจ้าพนักงานย่อมใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ยึดอายัดสินสมรสส่วนของสามีได้ แต่จะยึดสินส่วนตัวของภริยาไม่ได้ ต้องดำเนินการทางศาลเท่านั้น (กค 0811/5816 ลว.28 มิ.ย.2545)


                 
การยึด อายัดทรัพย์สินของคู่สมรสและบุตรผู้เยาว์ที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ค้างฯ หรือทรัพย์สินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ร่วม เจ้าพนักงานต้องพิสูจน์และมีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะยึดหรืออายัดนั้น จึงจะดำเนินการยึดหรืออายัดได้ (กค 0811/5816 ลว.28 มิ.ย.2545)


            5.
จังหวัดฯ ได้ยึดที่ดินติดภาระจำนองของหุ้นส่วนผู้จัดการผู้ค้างฯ โดยแจ้งการยึดให้ทราบโดยชอบแล้ว การที่เจ้าของที่ดินได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยกที่ดินที่ถูกยึดให้แก่ผู้รับจำนอง จึงเป็นการยกที่ดินที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย การกระทำดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นการที่ศาลมีคำพิพากษาตามยอม คำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันเฉพาะคู่ความ ไม่สามารถใช้ยันกรมสรรพากรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ (กค 0811(กม.12)/890 ลว.27 มิ.ย.2545)


            6.
การถอนการยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร กระทำได้ต่อเมื่อหนี้ภาษีอากรได้ชำระเสร็จสิ้นแล้ว หรือได้มีการวางเงินประกันต่อผู้มีอำนาจออกคำสั่งยึดทรัพย์สิน หรือต่อเจ้าพนักงานผู้ทำการยึดทรัพย์สิน เป็นจำนวนเงินพอชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างนั้น พร้อมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการยึดทรัพย์สิน หรือได้หาประกันมาให้จนเป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจออกคำสั่งยึดทรัพย์สิน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ค้างฯ มิได้ชำระภาษีอากรค้างให้เสร็จสิ้น หรือได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว จึงมิอาจถอนการยึดทรัพย์สินของผู้ค้างฯ ได้ และอีกทั้งการยึดดังกล่าวมิได้ทำให้เสื่อมสิทธิของผู้รับจำนองในเวลาบังคับจำนองแต่ประการใด (กค 0811(กม.13)/900 ลว.27 มิ.ย.2545)


            7.
ผู้ค้างฯ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดซึ่งได้มาโดยการจัดสรรตามมาตรา 27 และมาตรา 30 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยมี่เงื่อนไขว่า ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนด ห้ามมิให้ผู้ที่ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าว โอนที่ดินให้แก่ผู้อื่น และภายในกำหนดเวลาห้ามโอนดังกล่าวนี้ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี ตามมาตรา 58 ทวิ (3) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กรมสรรพากรจึงไม่อาจใช้อำนาจยึดและอายัดที่ดินแปลงดังกล่าวได้ (กค 0811(กม.13)/886 ลว.26 มิ.ย.2545)


            8.
ผู้ค้างฯ นำทรัพย์สินของตนหรือบุคคลอื่นมาจดจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ภาษีอากรกับกรมสรรพากรนั้น เมื่อผู้ค้างฯ ผิดนัดการชำระหนี้ กรมสรรพากรควรพิจารณาดำเนินการดังนี้


                 8.1
ผู้ค้างฯ นำทรัพย์สินของตนหรือบุคคลอื่นมาจดจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ภาษีอากร ต่อมาผู้ค้างภาษีผิดนัดชำระหนี้ กรมสรรพากรไม่จำเป็นต้องฟ้องบังคับจำนองเสมอไป หากทรัพย์สินที่จำนองนั้นไม่พอที่จะชำระหนี้ กรมสรรพากรสามารถฟ้องคดีบังคับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญเพื่อยึดทรัพย์สินขายทอดตลาดได้ และหากเงินไม่พอชำระหนี้ ยังสามารถดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของผู้ค้างภาษีอากรนำมาชำระหนี้ได้อีก


                 8.2
กรมสรรพากรมีอำนาจตามมาครา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ภาษีอากร ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะติดจำนองหรือไม่ก็ตาม


                8.3
ผู้ค้างภาษีอากรนำทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลภายนอกมาจดจำนองเป็นประกันการชำระหนี้กับกรมสรรพากรตามระเบียบฯ ต่อมาผู้ค้างภาษีอากรผิดนัดการชำระหนี้ กรมสรรพากรจะต้องฟ้องบังคับจำนองเอากับทรัพย์สินจำนองเท่านั้น จะใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดไม่ได้ เนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช้ของผู้ค้างภาษีอากร (กค 0811/5214 ลว. 12 มิ.ย. 2545)


            9.
กรมสรรพากรสามารถนำทรัพย์สินที่ได้ยึดไว้ไปให้บุคคลอื่นเช่าได้ แต่จะต้องได้รับมอบหมายหรือยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เนื่องจากตามระเบียบการบริหารราชการของกรมสรรพากรมิได้ให้อำนาจในส่วนนี้ จึงไม่อาจดำเนินการได้ (กค 0811(กม.12)/454 ลว. 22 เม.ย.2545)


            10.
การยึดทรัพย์สินของภริยาผู้ค้างภาษีอากร


                 
ผู้ค้างฯ ค้างชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยได้แจ้งให้ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ค้างฯ ทราบแล้ว และจากการตรวจสอบทรัพย์สินพบว่าภริยาของผู้ค้างฯ มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาก่อนสมรสจำนวน 4 แปลง กรณีที่ภริยาต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากร จะต้องเป็นกรณีที่ภริยามีเงินได้พึงประเมินด้วย หากหนี้ภาษีอากรเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีฝ่ายเดียว เจ้าพนักงานย่อมไม่มีอำนาจยึดที่ดินที่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของภริยา เว้นแต่เป็นกรณีที่หนี้ภาษีอากรดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานของสามีและภริยาทำด้วยกัน ซึ่งเป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1490 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับที่ดินที่เป็นสินสมรสเจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจยึดและขายทอดตลาดได้ (กค 0802/15220 ลว.30 ส.ค. 2537)


                 
เจ้าพนักงานได้ประเมินภาษีในปีที่ความเป็นสามีและภริยายังคงมีอยู่ แม้ว่าจะเป็นกรณีที่ภริยาไม่มีเงินได้ในปีภาษีดังกล่าวซึ่งภริยาไม่ต้องร่วมรับผิด หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าหนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกันในระหว่างสมรสแล้วย่อมถือเป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1490(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เจ้าพนักงานมีสิทธิ์สอบสวนทรัพย์สินของภริยาในฐานะหนี้ร่วมได้ หากภริยาและบุตรของผู้ค้างฯ ไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากร เจ้าพนักงานก็ไม่มีอำนาจสอบสวนทรัพย์สินของภริยาและบุตรของผู้ค้างฯ แต่จะสอบสวนทรัพย์สินของผู้ค้างฯ จากภริยาและบุตรได้ แม้ว่าจะได้หย่ากันแล้วก็ตาม (กค 0802/03524 ลว. 2 มี.ค.2538)


                 
หนี้ร่วม ตามมาตรา 1490(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะต้องเป็นหนี้ที่สามี หรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส เนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน ดังนั้นหากหนี้ภาษีอากรเป็นเงินได้ของปีที่สามีและภริยายังอยู่ในระหว่างสมรส และเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งทำด้วยกันแล้ว ภริยาต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรดังกล่าวด้วย ตามมาตรา 1490(3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินส่วนตัวของภริยาไม่ได้ จะต้องดำเนินคดีทางศาลเท่านั้น (กค 0802/10114 ลว.13 มิ.ย. 2538 กค 0802/17720 ลว. 7 ส.ค. 2538)


                 
หนี้ภาษีอากรที่เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษีที่ล่วงมาแล้วและต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ เมื่อภริยาได้รับแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันแล้ว ภริยาต้องร่วมรับผิดในหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระนั้นด้วย เจ้าพนักงานจะใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อยึดทรัพย์สินส่วนตัวของภริยาเพื่อขายทอดตลาดมาชำระหนี้ภาษีอากรที่เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ แต่ถ้าหากภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และภริยาได้แยกยื่นรายการตามมาตรา 57 เบญจ ภริยาก็ไม่ต้องร่วมรับผิดตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0802/10114 ลว.13 มิ.ย. 2538)


                 
ทรัพย์สินที่ยึดเป็นทรัพย์สินที่ผู้ค้างฯ และสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสได้มาระหว่างอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา ถือว่าผู้ค้างฯ มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวครึ่งหนึ่ง จึงสามารถดำเนินการตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรได้ โดยยึดทรัพย์ดังกล่าวและนำออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ภาษีอากรค้างได้ สามีไม่มีสิทธิร้องคัดค้านขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึด แต่มีสิทธิยื่นคำร้องขอแบ่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามส่วน (กค 0802/12439 ลว.13 กค 2536)


            11.
ผู้ค้างฯ ค้างชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการเร่งรัดพบว่าผู้ค้างฯ มีเงินลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่เนื่องจากเงินดังกล่าวกลายเป็นทุนของห้างฯ ซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก ผู้เป็นหุ้นส่วนมีสิทธิเพียงแต่เรียกเอาเงินกำไรหรือถอนหุ้นคืนเท่านั้น ดังนั้นกรมสรรพากรจึงไม่สามารถยึดหุ้นดังกล่าวได้ แต่สามารถอายัดเงินค่าหุ้นและเงินผลกำไร เงินปันผลหรือดอกเบี้ยของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างฯ ไว้แทนได้ (กค 0802(กม)/1830 ลว.21 ก.ย. 2537)


                 
ผู้ค้างฯ ถูกประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลในฐานะตัวแทนของนิติบุคคลต่างประเทศ และนิติบุคคลต่างประเทศมีทรัพย์อยู่ในประเทศไทยคือหุ้นในบริษัทฯ เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวและขายทอดตลาดเพื่อใช้หนี้ภาษีอากรค้างได้ เนื่องจากนิติบุคคลต่างประเทศซึ่งเป็นตัวการยังคงต้องรับผิดเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว (กค 0802/3428 ลว.9 มี.ค. 2530)


            12.
ผู้ค้างแจ้งการมีเลขบ้านใหม่และขอมีเลขบ้านด้วยตนเอง แต่กลับปฏิเสธว่าไม่ใช่บ้านของตนเองโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่จะแสดงว่าบ้านดังกล่าวเป็นของบุคคลอื่นจึงเป็นการชอบที่จะดำเนินการยึดบ้านหลังดังกล่าวได้ (กค 0811(กม)/141 ลว.21 ก.พ. 2540)


            13.
ผู้ค้างฯ มีสิทธิครอบครองในรถยนต์ซึ่งได้เช่าซื้อมา แต่กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวยังคงเป็นของบริษัทฯ ผู้ให้เช่าซื้ออยู่ ผู้ค้างฯ มีเพียงสิทธิเรียกร้องให้โอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อจากบริษัทฯ จึงไม่สามารถยึดรถยนต์คันนี้ได้ แต่อายัดสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อได้ (กค 0802/9447 ลว. 19 มิ.ย. 2533)


            14.
ผู้ค้างฯ ปลูกสร้างตึกแถวบนที่ดินของผู้อื่น โดยอาศัยสิทธิเช่าที่ดินตามสัญญาเช่า ตึกแถวที่สร้างจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ปลูกสร้าง กรมสรรพากรจึงมีอำนาจยึดทรัพย์สินดังกล่าวได้ แต่เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่า สัญญากำหนดให้สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน ตึกแถวดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินโดยผลของกฎหมาย กรมสรรพากรจึงไม่มีอำนาจยึดทรัพย์สินดังกล่าวได้อีกต่อไป (กค 0802(กม)/933 ลว.16 พ.ย. 2535)


            15.
หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด ได้ยินยอมให้ใช้ชื่อตนระคนกับชื่อห้างฯ จึงต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรค้าง เสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ทั้งนี้ตามมาตรา 1082 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นจึงสามารถดำเนินการตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรกับหุ้นส่วนดังกล่าวได้ (กค 0811(กม.10)/119 ลว.21 ธ.ค. 2542)


            16.
ผู้ค้างฯ ได้ทำหนังสือสัญญายกที่ดินให้สร้างวัด ถือว่าผู้ค้างฯ ได้แสดงความจำนงจะให้ที่ดินแปลงดังกล่าวเพื่อสร้างวัด จึงตกเป็นของแผ่นดินเพื่อใช้สร้างวัดตามเจตนาของผู้อุทิศทันทีโดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 525 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดแล้วจึงไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี (กค 0811/ก.592 ลว.18 ก.ย. 2543)


            17.
ที่ดินที่ยึดเป็นที่ตั้งของอาคารชุด อันเป็นทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 15(1)(2) แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ของบริษัทผู้ค้างภาษีอากร จึงไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร ยึดและขายทอดตลาดทีดินดังกล่าวได้ (กค 0811(กม.04)/468 ลว.28 .ค. 2543)


            18.
ที่ดินที่ได้ดำเนินการยึดได้จดทะเบียนจำนองกับธนาคาร ต่อมาได้จดทะเบียนปลดจำนองเป็นเหตุให้สัญญาจำนองระงับสิ้นไป แม้จะมีข้อตกลงว่าที่ดินซึ่งปลดจำนองแล้วยังคงเป็นประกันหนี้ทั้งหมด และธนาคารได้ยึดต้นฉบับโฉนดที่ดินไว้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะได้ประโยชน์ในที่ดินนั้น ธนาคารจึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ หากมีการขายทอดตลาดก็ไม่ต้องนำเงินที่ได้จากการขายไปชำระให้แกธนาคารก่อนแต่อย่างใด (กค 0811(กม.02)/818 ลว.18 พ.ค. 2543)


            19.
สิทธิในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรเป็นสิทธิเรียกร้องที่โอนกันได้ ตามมาตรา 304 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงยึดหรืออายัดทรัพย์ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรได้ แต่เมื่อได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกโดยกรมศุลกากรได้อนุมัติและออกบัตรภาษีแล้ว แม้ยังไม่มีการส่งมอบ การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ควรจะทำการสอบสวนว่าการโอนดังกล่าวได้ดำเนินการโดยสุจริตหรือไม่ กล่าวคือในขณะที่โอนบุคคลภายนอกได้รับรู้ว่าผู้ค้างฯ มีหนี้กับกรมสรรพากรและมีการชำระค่าตอบแทนกันอย่างไรหรือไม่ หากเป็นการโอนโดยไม่สุจริตก็อาจที่จะฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนได้ (กค 0811(กม.01)/1620 ลว.1 พ.ย.2543


            20.
ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงเลื่อย เป็นใบอนุญาตที่ออกให้ตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งสามารถโอนได้เมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีอำนาจสั่งยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สิทธิตามใบอนุญาตซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรได้เมื่อได้รับความยินยอมจากพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว (กค 0802/28172 ลว. 24 ธ.ค. 2538)